แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เล่าตามคำแต้ม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เล่าตามคำแต้ม แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พื้นดอกขาม


บ่เด่นบ่ดัง จึงบ่ดี
บ่มีบ่มั่ง  จั่งบ่หมาน
บ่รวยบ่ล่ำ เลยบ่ผ่าน
บ่คือบ่ควร ชวนบ่ไป

ทุกข์นำหยัง
ยากนำหลาย
สุดทางสิไป

ยังอยู่ยังอยู่
เป็นของแท้
ยังบ่ทันตาย

ยังหัวยังยิ้ม
บ่อึดบ่อยาก
ยังคึดอ่านขยับขยาย

ซามฝนสิมา
หน่วยน้อยต้นเก่า
พอเป็นส้มจ้ำแจ่ว ยุนา

|คำแต้ม by ทางหอม 

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

ร้างบางเหล่า | เล่าความหลัง

ตอนเด็ก งานเลี้ยงควายยังเป็นของพ่อ  แต่พอโตขึ้น รู้ความ พ่อก็โอนหน้าที่นี้ให้ผม 

คิดย้อนไป นับเป็นโชคดีของผม ที่ได้ฝึกทำงาน พาควายไปเลี้ยง ตักน้ำ เกี่ยวหญ้า อาบน้ำให้ควาย ได้รู้จักควายหลายตัว 

ควายบางตัวดื้อ ไม่ฟังความ เวลาเดินไปตามคันแทนา ชอบตวัดลิ้นเกี่ยวดึงต้นข้าวมากิน

บางตัวเป็นควายคะนอง เวลาฝนตกชอบออกกำลังกาย วิ่งไล่ขวิดควายตัวอื่น จนผมนึกโกรธมัน โดยเฉพาะตอนที่ต้องฝ่าลมฝนขณะฟ้าคำรามและส่องประกายแวบวาบปลาบแปลบ เพื่อไปแยกคู่มวยควายออกจากกัน

พ่อจะซื้อควายมาใช้งาน ไถคราดนาข้าวสวนหอมกระเทียม สาม-สี่ปีก็ขาย แล้วซื้อตัวใหม่ เอาเงินส่วนต่างไว้ทำทุน

เท่าที่จำได้ มีควายตัวใหญ่กำยำ แผ่นหลังแบนพอดีขึ้นนั่งควบไม่เจ็บก้นกบ เราผูกพันกันมาก  ค่ำนั้น ที่ไทแขกมาซื้อเพื่อนไป ผมไม่ยอมลงเฮือนไปบอกลามัน เคยบอกพ่อให้เอามันไว้ ไม่ต้องขายได้ไหม พ่อไม่ตอบ  รุ่งเช้ากลับจากไปเก็บใบหม่อนที่สวนกับย่า เราเห็นเพื่อสี่ขาถูกล่ามไว้ให้เล็มหญ้าที่โพนทางผ่าน ผมยืนจ้องตาเพื่อนอยู่นาน น้ำตาพาลจะไหล เดินจากมาด้วยความอาลัยรัก ไม่รู้ว่าเพื่อนจะถูกขายต่อไปไหนบ้าง...

นั่นคือรสชาติความจริงของชีวิตแบบหนึ่ง มีพบ มีพราก

แต่ก่อนหน้าที่ผมจะได้ทำหน้าที่เลี้ยงควายเอง  จำได้ น่าจะสัก 7-8 ขวบ พ่อพาไปเลี้ยงควายที่ทุ่งนาป่าละเมาะทางตะวันออกหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นศูนย์ราชการของอำเภอไปแล้ว

เราปล่อยควายให้มันเลาะหาเล็มหญ้า พ่อให้ผมนั่งเฝ้า สักพักได้ยินเสียงพ่อเรียก ไปถึง เห็นพ่อนั่งหงายฝาเท้าข้างหนึ่ง เลือดอาบแดงทั่ว พ่อบอกให้ไปเด็ดยอดเหล่าฮ่างมาให้ 

ผมเหงยหน้าขึ้น ดงเหล่าฮ่างเป็นฉากหลังของเรา เบื้องหน้าเป็นทุ่งหญ้าป่าละเมาะ แดดยามบ่ายสาดลงทรงพุ่มต้นหว้า ทอดเงามาตรงนี้ ตรงที่พ่อนั่งพักดูแผลจากเศษขวดแก้ว

ผมได้ยอดใบเหล่าฮ่างมากำหนึ่ง บิดขยี้ลงฝามือตามคำบอกของพ่อ พอมีน้ำจากยอดใบออกมาหน่อย พ่อก็หยิบไปกดปิดบาดแผล  สักครู่เลือดก็หยุดไหล

ผมรู้จักต้นเหล่าฮ่างและสรรพคุณของมัน ก็วันนั้นแหละ วันที่ยังเป็นผู้ช่วยพ่อ เลี้ยงควายตามป่าละเมาะ...

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มาก่อน


อาคารของสงบพริ้ม
มณฑปสีกลีบลำดวน
หลายใจเพียรพนมมือ
นมัสการความเบิกบาน

เธอไม่มีชื่อใด
มดดำในซอกกลีบ
อาศัยเป็นที่พักร้อน

ข้อปล้องของคำรำพึง
นับได้ไหมเล่า
'ประกายทองแท้'
ในชั่วขณะลมไหวใบวาบ

ในระเบียบกิ่งก้าน
เธอเป็นดารา
นำแสดงบทบาท
ผู้มาก่อนฤดูกาล

พฤศจิกายน  ลมหนาว
มีนาคมที่จะถึง  หนาวใด?

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อังคาร 5 พ.ย. 2556

-----

|เล่าตามคำแต้ม|
ชายหน้าเศร้า

เมืองเราเป็นเมืองปิดมานาน  เมืองที่สนุกสนานเบิกบานของพ่อค้าแม่ขาย เจ้าหน้าที่เมืองรุ่นเก่าและเครือข่าย เมืองที่เคลื่อนตัวไปอย่างเอื่อยอ้อยสร้อยของชาวบ้านชาวเมือง เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนตกงาน  ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น

สมัยนั่น 'บางคน' นับหัวได้ที่เกิดมาพร้อมใบหน้ายิ้มแย้ม แต่หลายต่อหลายคน หรือต้องเรียกว่า 'คนส่วนใหญ่' นั่นแหละ ต่างก็เกิดมาพร้อมใบหน้านิ่งราวหุ่นฟางไล่กาบนคันแทนาในฤดูนาปรัง

อย่างไรก็ช่าง  เมืองของเรา สามร้อยปีแล้วตั้งแต่ก่อเกิด ไม่ปรากฏในความทรงจำใครเลย ว่ามีคนใบหน้าเศร้า  มีเพียง ยิ้ม กับ นิ่ง

จนเมื่อชายคนหนึ่งย้ายเข้ามาเช่าเฮือนพักของโฮงเฮือนกกไม้ชื่อ "มิ่งแมนแนนสาย" ตรงหัวมุมถนนกกหว้าตัดกับถนนกกกะยอม ในปีเถาะรอบที่แล้วนั่นดอก คนในเมืองเฮาจึงค่อยเริ่มรู้จักคนหน้าเศร้าคนแรก ก็คือชายเจ้าของเฮือนเช่ากกส้มแบงหลังแอ่นนั่นล่ะ
 
ที่จริง ชายคนนี้ก็ไม่เชิงว่าย้ายมาอยู่ใหม่อีหยังดอก  เพราะเขาก็คือคนเมืองเฮานี่เอง

สมัยหอมกระเทียมยังเป็นสินค้าส่งออกประจำเมือง คนกว่าครึ่งค่อนเป็นชาวสวนหอมกระเทียม  พ่อแม่ของเขาก็คือหนึ่งในคนส่วนใหญ่นี้ 

แต่พอวิกฤตราคาหอมกระเทียมห้าปีติดต่อกันครั้งนั้น ประกอบกับสภาเมืองออกนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาเมืองหลังสมัยใหม่ เน้นให้ชาวเมืองเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการโฮงเฮือนกกไม้ให้พักเซา ท่ามกลางธรรมชาติบ้านนาป่าสวน ประธานเมืองและคณะประสานการก่อสร้างบ้านต้นไม้กับวิศวกร สถาปนิก และนายช่างรับเหมาพร้อมทีมงานที่มีชื่อเสียงของเมือง ซึ่งหลายต่อหลายคนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลการออกแบบและสร้างบ้านต้นไม้จากเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว รวมทั้งวางแผนเชื่อมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถีชนกับทางการส่วนกลางและประเทศอ้อมข้างอ้อมแอว โฆษณาในเว็บไซต์-แฟล็ตฟอร์มชั้นนำ ให้คนมาพักอยู่กินในเมืองของเฮา โดยใช้สโลแกนว่า "พักสบายตลอดทริป เรียนรู้ประกายวับวิบ ทางกะพริบชีวิตคนหอมกระเทียม หนึ่งเดียวในโลกา"

นั่นแหละ ๆ ตอนนั้น  เขาจบมัธยมปลายพอดี พ่อแม่จึงให้เขาตัดสินใจจะอยู่ช่วยท่าน ทำธุรกิจบ้านต้นไม้ตามนโยบายของเมือง ที่สภาเมืองมีศูนย์อบรมพัฒนาให้เบ็ดเสร็จ พร้อมมีทุนสำรองให้ทุกบ้านที่ต้องการเปลี่ยนจากทำเกษตรเป็นทำธุรกิจ  ส่วนที่ไม่พร้อม ไม่ต้องการวิถีใหม่ ทางเมืองก็รับเข้าทำงานในระบบโครงข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง โดยบรรจุงานตามความถนัดและสมัครใจ  

เมืองเราจึงไม่มีคนตกงาน มีอยู่มีกิน มีสวัสดิการดีถ้วนหน้า เพราะกว่าห้าสิบปีแล้ว ที่ชาวเมืองพร้อมใจออมเงินเป็นกองทุนสวัสดิการเมือง 40%ของรายได้ต่อปี  ช่วงที่หอมกระเทียมราคาดี กองทุนเมืองจึงมีเงินรวมกว่าแปดร้อยล้าน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเมือง ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ให้นำไปตั้งกองทุนรวมแบบสภาพคล่องเยี่ยม ความเสี่ยงระดับกลางมาต่ำ ในตลาดหลักทรัพย์  จนถึงตอนที่เขาจบมัธยมปลายก็มีดอกกำไรรวมเงินต้นกว่าห้าหมื่นล้าน  ลูกหลานที่มีหน่วยก้านดี เมืองก็ส่งไปเรียนวิชาอาขีพหลากหลายแขนงตามแผนงานของเมืองที่วางไว้ สู่อนาคตที่สดชื่นของชาวเมืองทุกคน นั่นเอง  เขาจึงเดินทางไปเรียนต่อต่างเมือง 

เมืองที่เขาเลือกไปเรียน เปิดสอนวิชาหนังสือและวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้า ใช่! เขาจบสาขานี้ และกลับมาสานต่อแผนงานของเมือง ฝ่ายหนังสือประจำเมือง (การสร้างสรรค์ คัดสรร และจัดพิมพ์หนังสือวรรณกรรมประจำเมืองชุด "ความเศร้าในรูปเงาชาวหอมกระเทียม")  

หนังสือของฝ่ายวานนี้ งานสวัสดิการสติปัญญาของเมืองนำไปไว้ประจำเฮือนเช่ากกไม้ทุกห้อง ทุกหลัง ให้แขกคนที่มาเที่ยวมาพัก ได้อ่าน ได้รู้จักประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของเมืองเรา แบบที่พวกเขาจะจดจำไปชั่วชีวิต  และอดไม่ไหว จะต้องไปบอกต่อให้คนมาเที่ยว กินอยู่ ใช้จ่ายที่เมืองเราอย่างต่อเนื่อง  สืบไป  และยังส่งให้ทุกบ้านมีไว้อ่านปูมหลังเมืองของยรรพชนฮ่วมกันนำพร้อม

"บอกอ ที่แพงฮัก เรื่องข่อยต้องปรับปรุงจังใด๋ บ่น้อ" สาวนักเขียนประจำเมืองถาม
"อืมม... มีนิดนึงนะ อ้าว...นี่ต้นฉบับและลายมือที่ตรวจแก้แล้ว เอาไปอ่านทวนเดอ บ่เข้าใจส่วนใด เดี๋ยวแวมาโสกัน อีกเทื่อ" ชายหน้าเศร้า บอกอหนังสือวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้าประจำเมือง ยิ้มน้อยๆ ให้สาวน้อยนักเขียนหน้าใหม่
"เนื้อหา เกี่ยวแก่ประวัติกลุ่มแม่ญี่แม่ญ่านักมัดผัก พอได้ยุน้อ อ้ายบอกอ" น่ำเสียงเธออ่อนหวาน สำเนียงวาทชันแข็งแรงอมความจริงใจเป็นที่สุด
"ได้แหม ได้ งามเลย  แก้กันอีกรอบเดี๋ยวส่งโรงพิมพ์ประจำเมือง ให้เขาออกแบบ จัดหน้า หาคนวาดปก แล้วได้ ประชุมกองบอกอเมืองอีกเทื่อ สรุปงานบั้นท้ายนั่นแล้ว กะสิได้พิมพ์เล่มล่ะ  ดีใจนำนะ" ชายหน้าเศร้ายิ้มยินดีกับคู่สนทนา..

|คีต์ คิมหันต์|
พุธ 4.11.2563/2020










ที่สุดของรัก

คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก  คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...