วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 10 โดย ทางหอม
วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 9 โดย ทางหอม
บทที่ ๙ ฝันประหลาด
บ้านหลังใหญ่ กำลังมีงาน มีสาวๆ แต่งชุดไหมสีนวลเป็นโหล พร้อมกับแขกเหรื่อเต็มลานหญ้าข้างบ้านสวน เขากำลังเข้าพิธีแต่งงานกัน ธรรมดาจะต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เขาอยู่ในนั้นแต่งชุดสูทสีเงิน นั่งเคียงข้างเจ้าบ่าวที่แต่งชุดสูทขาวสะอ้าน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ
พอหมอพราหมณ์ร่ายคำจบลง พิธีกรก็เชิญญาติผู้ใหญ่ ผูกแขนคู่บ่าวสาว และเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เงินแบงค์ร้อย 100 500 1,000 ในอ้อมกอดฝ้ายสีขาวคาดเหลืองขมิ้น ทยอยผูกหุ้มข้อมือคู่บ่าวสาว จนเป็นพุ่มคล้ายกำไรข้อมืออันใหญ่หนา เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็พลอยได้รับกำไลข้อมือฝ้ายกอดเงินแบงก์อย่างนั้นด้วย แม้ว่าความใหญ่และหนาของกำไลจะน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็อดยิ้มไม่ได้
ตัดฉาก วูบวาบที่ภาพถัดไป เขาไปนั่งเคียงคู่เพื่อนเจ้าสาว ที่แคร่ไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านอีกหลังหนึ่ง ห่างออกไปสักสี่ห้าหลัง ยังได้ยินเสียงเพลงลูกทุ่งหมอลำขับกล่อมคนในงาน ตอนนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นปรากฏตัวบนเวทีที่หันสู่สวนผลไม้พื้นบ้านนานา สักพัก พิธีกรก็ได้เวลาสัมภาษณ์ เกี่ยวกับนิยายรักของทั้งคู่ อีกไม่นาน ทั้งคู่ก็จะลงจากเวทีเพื่อพบปะถ่ายภาพร่วมกับแขกที่ให้เกียรติมาร่วมงานซึ่งนั่งประจำโต๊ะจีน กว่าจะครบทุกโต๊ะ ก็คงใช้เวลาเกือบชั่วโมงทีเดียว เขากับเธอนั่งเคียงข้างกัน หย่อนขา สายตามองไปตามถนนดินแดงลูกรังจากงบ อบต. ปนดินทรายประจำถิ่น ที่เบื้องซ้ายเป็นป่ากล้วยและสวนหอมกระเทียม เบื้องขวาเป็นแนวรั้วไม้ไผ่ มีบ้านปลูกอยู่เป็นระยะทอดยาวไปจนถึงถนนดำ ทั้งสองสบตาแล้วหันกลับไปมองถนน บทสนทนาเงียบดำเนินไป รอยยิ้มที่มุมปากเป็นผลจากความรู้สึกข้างใน เขาและเธอเพิ่งพบกันวันนี้แต่ต่างรู้สึกว่า เหมือนเคยรู้จักกันมานานแสนนาน แล้วภาพก็เบลอค่อยๆ เลือนหายไป...
ข่อหล่องัวเงีย หันมองไปรอบๆ หน้าจอมือถือเครื่องเท่าใบพะยอมหนุ่มสาวบอกเวลาบ่าย 3 โมง เขาฟุบหลับในหอสมุดมหาวิทยาลัยไปนานแค่ไหน เขาฝันไปหรือนี่ มือขวาวางทับหนังสือ โมนผจญโลก ของ อาแล็ง ฟูร์นิแยร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส ความฝันของเขา พ้องกับฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ อืมมม...บทที่ 13 งานประหลาด ที่โมนเผอิญเดินทางไกลไปได้ร่วมงาน ได้พบสาว และเก็บมาฝัน เมื่อเขากลับมาที่โรงเรียนกินนอนแล้ว ก็วางแผนจะกลับไปที่นั่นอีก
ข่อหล่อตั้งใจจะอ่านนวนิยายปกแข็งสีม่วงเล่มย่อมๆ นี้ ให้จบภายในวันหยุดเรียนเสาร์อาทิตย์พร้อมแผนการจะกลับไปอ่านให้กะปอมก่าฟังในช่วงปิดเทอมหน้าแล้งที่จะถึงนี้
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 8 โดย ทางหอม
วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 7 โดย ทางหอม
วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 6 โดย ทางหอม
บทที่ ๖ บทสัมภาษณ์รุ่นพี่
ข่อหล่ออาสาเข้าทำงานเป็นกองบรรณาธิการวารสารโรงเรียน จากการชักชวนของรุ่นพี่ที่ได้อ่านบทกวีของเขาในวารสารประจำเมือง
งานแรกในฐานะกองบรรณาธิการวารสาร “หายโศก” ท้าทายและสนุกไม่น้อย
ข้างล่างนี้ก็คือ ผลงานการสัมภาษณ์รุ่นพี่ศิษย์เก่าของโรงเรียน ผู้เป็นนักเขียนดีเด่นประจำปีของวารสาร เมืองฮิมมูน
...
เรื่องจากปก
ฮอย ฮิมมูน กวีผู้รักนวนิยายสั้น
บ้านพักสองชั้นทรงลาวฝั่งขวาแม่น้ำของ ตั้งอยู่แคมห้วยวังนองฝั่งตาเว็นออก แทรกตัวอยู่ในสวนผลไม้สไตล์บ้านๆ มีบักเขียบ บักเฟียง บักขาม และกำแพงแผงกกหวดข่าสลับกกมอนที่แตกพุ่มใบเขียวดั้วคล้ายฉัตร เกี้ยวก่ายด้วยเครือหญ้านาง พื้นดินโบราณร่วนปนทรายดูสะอาดเพราะหญ้าถูกดายเสียเมื่อไม่นานมานี้
เรานั่งจิบชาใบหม่อนที่แม่ของกวีหนุ่มชงมาให้ คุยกันถึงประเด็นการสร้างงานกวีในยุคสื่อดิจิตอลออนไลน์...
กวีดีเด่น ดาวดวงใหม่ประจำวารสาร “เมืองฮิมมูน” ปี ๒๕๖๐ ได้ไขข้อข้องใจของนักอ่านหลายๆ คนว่า ทำไมบทกวีของเขาจึงเป็น กลอนเปล่า และทำไมเขาจึงฝันจะเขียนนวนิยายสั้น เชิญจิบกวีทัศนะได้ ณ วาระนี้
หายโศก : เล่าที่มาของนามแฝง ฮอย ฮิมมูน ให้รู้จักหน่อย
ฮอย ฮิมมูน : คือบ่ายมื้อหนึ่ง ไปเดินฮิมแม่น้ำมูนแถวๆ หาดคูเดื่อ เดินตีนเปล่า ไปเหยียบเปลือกหอยกาบหรือหอยจีบจี้ เลือดออกเป็นทาง เห็นฮอยเท้าสองสี สีทรายกับสีเลือด โอชีวิต มันมีสีสันนะ ฮอยเลือดบนหาดทรายฮิมแม่น้ำมูน เลยเอามาเขียนเป็นบทกวีบทแรกลงใน เมืองฮิมมูน ตั้งชื่อบทว่า ทางเลือด ใช้นามแฝงว่า ฮอย ฮิมมูน นี่ล่ะ
หายโศก : เขียนบทกวีดีๆ ทำไมจึงฝันอยากเขียนนวนิยายสั้น
ฮอย ฮิมมูน : อ่านนวนิยายสั้นอิตาลีที่เยาวชนควรอ่านของ อเลซซานโดร บาริกโก เรื่อง ไหม ที่เขียนขึ้นจากการได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่เดินทางไกลไปยังอีกฟากฝั่งโลก มาญี่ปุ่นนี่ล่ะ ตัวละครเอกทำงานนี้เพียงปีละไม่กี่เดือน แต่มีรายได้สูงมาก นวนิยายสั้นเล่มนี้เขียนโดยใช้เทคนิคการแบ่งเป็น บทสั้นๆ จำนวน ๖๕ บท แต่ภาษากระชับ คมคายหลาย แม้คำที่นักเขียนเลือกใช้จะดูเรียบง่าย ก็ตาม ชีวิตคนเราก็ควรเอาอย่างวิธีเขียนของนักเขียนคนนี้นะ และผมก็ตามอ่านงานของ บาริกโก เล่มอื่นๆ อีกนะ ชอบทุกเล่มเลยอยากเขียนมั้ง เอาฉากแถวๆ เมืองเรานี่อาจเป็น ฮิมห้วยวังนอง ทางไปอำเภอตระการพืชผล ผาแต้ม ชายแดนช่องเม็ก หรืออื่นๆ ใส่ลงในนวนิยายสั้น น่าจะหม่วนสนุกดี คุณว่าไหม
หายโศก : อยากให้เล่าแผนการสร้างฝัน จากกลอนเปล่า ทำไมต้องเป็นนวนิยายสั้น
ฮอย ฮิมมูน : ก็ไม่มีอะไรมาก กลอนเปล่า หรือบทกวีกาพย์กลอนโคลงฉันท์ มันอาจเขียนเป็นเรื่องยาวอย่างท้าวปางคำรจนาสังสินไซได้ แต่คนอ่านยุคดิจิตอล หรือผมเองก็เถอะ อาจบ่อินบ่เก็ทนำ นิยายน่าจะเหมาะกับสมัยนิยมกว่า ภาษานวนิยายนี่ ผมชอบ ผมว่ามันเรียบง่าย ลดชั้นเชิงการเขียน ดูเป็นเพื่อน เป็นกันเองกับผู้อ่าน อ่าน สัมผัสได้ง่าย คันอยากเขียนบทกวีด้วยนำ กะสามารถใส่ลงไปในนวนิยายได้เลย และนวนิยายสั้นมันเปิดกว้างกว่าเรื่องสั้น และมันก็กระชับกว่านวนิยายขนาดยาว ถูกใจผม ผมพอใจกับมัน พอใจรูปแบบที่ยืดหยุ่น
...
เฮากะจิบชาใบมอนของแม่ แกล้มข้าวจี่ไส้น้ำอ้อยที่แม่กวีท่านกรุณาจี่มาเสิร์ฟ เพราะเห็นคุยกันออกรส บทสนทนากันตอนนั่น ว่าด้วยเรื่องสำมะปิ ความฮักแหนฺ เรื่องหนังสือนำ และเรื่องความเก่าหลังของกันและกัน... จนตาเว็นลับทิวไม้ฝั่งห้วยวังนองที่มีคลื่นน้อยทยอยอำลาแสงสุดท้ายของวัน
---
วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 5 โดย ทางหอม
บทที่ ๕ สงครามกลางใจ
20 พฤษภา
วันเกิดข่อย สิบห้าปี แต่วันนี้พ่อกับแม่ทะเลาะกัน
เสี่ยวเอย เจ้าว่าบ่ ผู้ใหญ่เอาแต่ใจคักหลาย
“ให้ลูกเฮียนด้วยโตเอง สิได้ฮู้จักฮับผิดชอบ วางแผนชีวิต” แม่ว่า
“ต้องเข้าโรงเรียน ต้องเรียนพิเศษ ต้องกวดวิชา ติวและติว ว่าสั่น สิบ่ทันเขา”
พ่อเสียงแข็ง แล้วก็ต้องลงกันบ่ได้ ตอนข่อยจบ ปอหก นั่นเทื่อแรก นี่จะจบ มอสาม อีกเทื่อว่า ไปเรียนด้วยเจ้าของอยู่บ้าน อยู่กระท่อมหนังสือของพ่อนี่ก็วิเศษนะ แปลกแท้ แต่พ่อกลับอยากยัดข่อยเข้าไปในคุก ชื่อ โรงเรียน พ่อเป็นนักอ่าน นักเขียน แต่กลับอยากให้ลูกสิ้นอิสระภาพ สิ้นเอกราชทางความคิด
เจ้าว่าคือข่อยบ่ กะปอมก่า
29 มิถุนา
คึดฮอดหนังสือเล่ม ๔ ปีนรกในเขมร ของ ยาสึโกะ นะอิโต แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต
เขมรฆ่ากันเอง คนต่างชาติในเขมรตอนนั่น ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปนำ
สงครามนี่ บ่ปรานีใผ อีหลีเด
สงครามของพ่อกับแม่ แก่งแย่งลูกให้เป็นไปตามวิธีการของตน นี่ก็สงคราม แต่ข่อยก็มาอยู่ในโรงเรียนในเมืองแล้วล่ะ
กะปอมก่าเอย สงครามนี่ พ่อชนะแม่แล้ว
11 ธันวา
วันนี้ ก็เข้าเดือนที่สามของเทอมสองแล้ว ที่ข่อยต้องจากเจ้ามาเรียนต่อในเมือง
ปิดปีใหม่ สิหลบต่าวไปหาเดอ เสี่ยวเอย
จักสิทนเรียนอยู่ในเมืองได้ดนปานใด๋ดอก ข่อยนี่กะดาย
---
วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 4 โดย ทางหอม
บทที่ ๔ จดหมายจากเมืองใหญ่
ขณะตัวเอกทั้งสองของเฮา กำลังนอนอาบแดดอุ่น เพลินนับดอกสะแบงหล่นระบายพื้นห้างไม้ ในยามสายของวันหยุดปลายเดือนสุดท้ายของปี จักรยานของบุรุษไปรษณีย์ก็มาจอดอยู่ข้างล่างแล้ว
ยิ้มรับจดหมายซองสีน้ำตาล ขนาดกว้างสองฝ่ามือเรียงต่อกัน กลับขึ้นห้างมา มองเห็นหลังบุรุษไปรษณีย์หนุ่มหลบลับหายไปกับมุมถนน ตรงซุ้มดอกส้มหมั่งข้างกระท่อม
จดหมายลายมือตาแพง ที่บักข่อหล่ออ่านให้เพื่อนกะปอมก่าของเขาฟัง ในสายวันนั้น มีเนื้อความดังนี้
ที่บ้านพักในเมืองใหญ่กวมแม่น้ำเจ้าพระยา
20 กรกฏ ปีคึดฮอดบ้าน
ถึง ข่อหล่อหลานรัก ผู้อยู่แคมห้วยครก ระหว่างแม่น้ำมูน-ชี
ป่านนี้หลานคงใหญ่เป็นหนุ่มน้อยแล้ว สองหรือสามปีแล้วนะ ที่น้าบ่ได้ส่งข่าวทางจดหมายมายาม
ชีวิตในเมืองใหญ่ นอกจากลางานเดินทางท่องไปในโลกกว้าง ก็มีหนังสือนี่แหละช่วยเติมพลังใจให้สู้งานต่อได้อีก
น้ามีหนังสือใหม่มาฝากนะ ลองอ่านดู
คนแต่งบอกไว้ว่าเขียนจากเรื่องจริง ตอนที่เผิ่นเป็นเด็กหนุ่มไปอยู่อเมริกา ทำงานหาเงินเรียนเอง แต่ก็มาโดนจับ ชีวิตในคุกในค่ายจึงเป็นเรื่องราวชวนติดตาม
คนเราไกลบ้าน ไกลญาติมิตร ในยามคับขัน สิ้นไร้ทางสู้ เจ้าว่าเขาจะรู้สึก นึกคิดอะไร อย่างไรบ้าง?
บางครั้งจิตใจคนเราก็ต้องการบททดสอบที่หนักหนา มันจึงจะตื่น รู้ และยอมรับการก้าวออกไปจากกะลาอันเก่าแคบ…
เอาไว้อ่านตอนเรียน มอห้า เด้อ หากหลานคึดว่า วัยส่ำเจ้ายังไม่เหมาะจะอ่าน นักเรียนเก่าอเมริกรง ที่แต่งโดยเด็กหนุ่มบ้านนอกไทร้อยเอ็ด ผู้ทำงานเป็นบ๋อยโรงแรมเก็บเงินไปเรียนอเมริกา วันจะบิน คนรอบข้างที่ไม่รู้เรื่อง ยังเย้ยหยันอยู่เลยว่า “ส่ำเจ้า อย่ามาเว่าให้งึดหลาย” นั่นก็เพราะสมัยนั้น ถ้าไม่รวยจริง ไม่สอบได้ทุนของรัฐ ก็ยากคักแหน่ที่ใผจะไปเรียนถึงเมืองนอกเมืองนาได้ เออ น้าเกือบลืม อดีตนักเรียนเก่าอเมริกาคนนี้ใช้นามแฝงว่า รอน โพนทอง ว่าส่านนนน
ไว้พ้อกันปีใหม่ เด้อหลาน
คึดฮอดเจ้าเท่าจ่อ-กระด้ง-กะต่า...
น้าสาวนักเดินทางคนงาม
ปล. เขียนไว้ดนนาน แต่หัวก่าส่งมา ย่อนว่าคาเลาะยุ555
วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 3 โดย ทางหอม
บทที่ ๓ ชื่อเดียวก็พอ
นามของเธอ
เมื่อใครถาม
นามเรียกขานชวนฟัง
นามสมมติชวนหลงใหล
นามคุณค่าชวนเคารพ
นามนิยมชวนสดุดี
เธอมิพึงใจ
คล้ายกกยางนาร้อยปีไม่สะท้านหนาวต่อสายลมเดือนสิบสอง
เมื่อใครย้ำ
กะปอมก่า เชยนะ
กะปอมก่า ไม่จำเพาะเจาะจงเลย
กะปอมก่า ไม่ใช่ภาษาทางการสักหน่อย
กะปอมก่า ชื่อพื้นเมืองน่ารังเกียจ
กะปอมก่า ไม่มีในพจนานุกรมมาตรฐาน รู้ไหม
กะปอมก่า ชื่อเทียม ชื่อปลอม ๆ ขอบอก
เธอมิข้องขัดขุ่นเคืองแม้เพียงน้อย
คล้ายกับความนิ่งสงบของชื่อปกนวนิยายเยาวชน
“หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน”
งานประพันธ์ของ หลุยส์ เซปุล์เบดา
นักเขียนชาวชิลี ผู้ลี้ภัยเผด็จการทหารในประเทศ
ไปตั้งหลักที่เยอรมัน และตั้งรกรากในสเปน
ฉันเคยขอตั้งชื่อให้เธอ
พ่อฉันก็เคยคิดตั้งชื่อให้เธอ
และอาจมีใครอื่น เคยอยากให้เธอมีชื่อพิเศษ
แต่เธอไม่ต้องการมันหรอก
กะปอมก่า ชื่อเดียวก็พอ
เธอกระซิบกับฉันในเช้าแดดใสอาบใบสะแบงร่วง
ข่อหล่อ
พฤศจิกา ๒๕๖๓
กะปอมก่า นิ่งฟังบทกวีของข่อหล่อ อมยิ้ม ยืดคอ และก้าวเดินช้า ๆ เป็นสง่า ไต่ราวลูกกรงของนั่งห้างไม้มันปลา ไปอาบแดดเช้า
ข่อหล่อพับกระดาษบทกวีลงในซองจดหมายสีน้ำตาล ลุกขึ้น ก้าวไปกระซิบเบา ๆ ข้างหูเพื่อนรัก
“ฉันจะนำไปส่งบรรณาธิการวารสารประจำเมืองนะ วันที่วารสารออก เราจะฉลองดื่มชาดอกจานกัน ฉันเลี้ยงเอง”
***
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 2 โดย ทางหอม
บทที่ ๒ สุดปรารถนาของกะปอมก่า
ว่าไปแล้ว สัตว์ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรอก แม้ไม่อ่าน ชีวิตก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไม่มีอะไรเสียหาย ยังมีความสุขกับกิจกรรมธรรมดา ๆ การออกหากิน การใช้สัญชาตญาณเป็นอยู่ การเดิน วิ่ง ขับถ่าย นอนหลับพักผ่อน ตลอดจนพูดคุยสนทนากันในหมู่ของตน แต่สำหรับกะปอมก่าตัวหนึ่งนี้ กลับไม่ใช่
เขาต้องการอ่าน ไม่สิ เขาต้องการฟังใครสักคนอ่านหนังสือให้ฟัง เพราะเขาอ่านหนังสือได้ช้าเต็มที แต่ถึงแม้จะอ่านได้เร็ว มือของเขาก็เล็กเกินจะเปิดหน้าหนังสือได้อย่างง่ายดายเช่นมนุษย์ทั่วไป การฟังมนุษย์อ่านเรื่องราวในหนังสือให้ฟัง เป็นกิจกรรมที่กะปอมก่าตัวนี้ติดอกติดใจ ขนาดว่า ถ้าขาดสิ่งนี้แล้ว ชีวิตของเขาย่อมเหี่ยวเฉาลง คล้ายหอมต้นเล็ก ๆ ที่ชาวสวนไม่ได้รดน้ำ มาสักสามวันห้าวันนั่นเทียว
ที่ข้างกระท่อม บนต้นสะแบงใหญ่ สูงจากพื้นดินราวห้าเมตร มีนั่งห้างไม้รูปวงกลมล้อมรอบอยู่ มีบันไดไม้วนเป็นเกลียวให้เดินขึ้นสะดวก
วันแรกที่เจอข่อหล่อ เขานอนอาบแดดอยู่บนราวไม้เหนือลูกกรงของห้าง ที่จริง หากห้างนี้ มีหลังคาและฝาผนัง พร้อมประตูหน้าต่างแล้ว ก็จะเรียกบ้านต้นไม้ได้เลยล่ะ ดูพื้นไม้สิ ปูด้วยไม้มันปลาแก่อย่างดี ลูกกรงและราวนั่นก็ด้วย
สามปีก่อน วันนั้น เด็กหนุ่มปั่นจักรยานมุ่งตรงมาตามทางดินทราย ที่มีไม้ประจำถิ่น พวกหว้า พะยอม ผะอุง ส้มหมั่ง ติ้ว... ยืนเด่นเป็นแนวกั้นระหว่างทุ่งนาสีเหลืองกล้วยสุกกับป่าละเมาะที่มีไม้พุ่ม พวกเล็บแมว ลอมคอม สาบเสือ... ไกลออกไป มองเห็นหมู่บ้านอยู่ลิบ ๆ
มาถึง พิงจักรยานไว้โคนต้น รีบวิ่งขึ้นบันได ทิ้งตัวลงนั่งพิงลำต้นสะแบง ดึงหนังสือปกสีน้ำเงินเล่มเล็กออกมาจากกระเป๋าย่ามผ้าไหมลายตาหม่อง กางหนังสือออกและเริ่มอ่านออกเสียง
กะปอมก่านอนฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนกนางแอ่นหนุ่มตัวหนึ่ง กับเจ้าชายรูปงามที่ถูกปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ทั้งสองให้สัญญาใจกันและร่วมมือกันช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากในเมืองนั้น มันเป็นเรื่องราวที่กะปอมก่าฟังแล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนปริ่ม ๆ จะมีน้ำใส ๆ เอ่อท้นดวงตาเล็ก ๆ ของเขา เพราะถ้อยคำของนักเขียน ที่บรรยายถึงความรู้สึกของนกน้อยผู้อิ่มเอมกับภารกิจสำคัญของชีวิต ได้อย่างชวนซาบซึ้งใจ มีข้อความทำนองว่า การที่เราได้เกิดมาแล้วมีโอกาสแบ่งปัน ช่วยเหลือชีวิตอื่น ๆ นั้น นับเป็นโชคมหาศาลและคุ้มค่าที่ได้เกิดมาอย่างที่สุด แม้ว่าท้ายที่สุด ตนเองอาจต้องสละชีวิตเพื่อภารกิจนั้นก็ตาม
หนังสือในมือเด็กหนุ่มในวันนั้น ปกนอกพิมพ์ชื่อเล่มว่า เจ้าชายผู้มีความสุข ท้ายเล่มระบุชัดว่า ผู้แต่งเป็นนักเขียนและกวีชาวไอริช นามของเขาคือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wild, 1854-1900).
ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 1 โดย ทางหอม
ไม่นานมานี้ มี กะปอมก่า ลำคอสีเขียวอมฟ้าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นสะแบงใหญ่ข้างกระท่อมหลังหนึ่ง ซึ่งเด็กหนุ่มนาม ข่อหล่อ อาศัยอยู่ ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน
เด็กหนุ่มชอบอ่านหนังสือ กะปอมก่าจึงได้ฟังเรื่องราวสดใหม่ จากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกอยู่เสมอ
“นายอ่านอะไรอยู่”
“ฝรั่งเศส”
“มันน่าสนใจตรงไหนล่ะ”
“ก็ตรงเป็นเรื่องราวของเด็กชายกับพ่อที่เป็นหมอในชนบท ฉันก็เป็นเด็กชายนะ แต่ไม่ใช่ลูกหมอเหมือนในเล่มนี้”
“ในเรื่องเขาเป็นหมอที่ดี เป็นพ่อที่ดีไหม”
“เป็นหมอใจดี คนไข้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา เขาก็รักษาให้ฟรี หมอไม่ค่อยรักษาสุขภาพตนเองเลย กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่เขาก็เป็นพ่อที่ดีแปลกๆ นะ ต่างจากชาวบ้านชาวเมือง”
สายลมเย็นปลายเดือนตุลาคม โชยพัดไล้ลำตัวกะปอมก่า มันนอนอยู่กลางวงกบหน้าต่าง ทับตรงรูลงกลอน ท่าทางการคุยกับข่อหล่อเพื่อนของมันนั้น เหมือนนักเรียนผู้ใคร่รู้คนหนึ่ง
“นายอ่านมันให้เราฟังได้ไหม อยากฟังแล้วล่ะ”
“ได้สิ ถ้านายต้องการ”
ที่สุดของรัก
คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...
-
ซวงใจแท้นอ ฝนมาห่าใหญ่ หญ้าไม้ดีใจ เขียวก่องขึ้นทันตา แปลกแต่จริง เรารดน้ำหญ้า รดน้ำต้นไม้ทุกวัน น้ำจากดิน น้ำจากท่อต่อจากเครื่องสูบ รดแล...
-
คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...
-
เช้าล้างหน้า ความเก่าหลังก็พลันตื่น ความใหม่หน้าก็แวะมาทักทาย สายล้างหน้า ความเร่งรัดระรื่นเย้ยกดข่ม ความกระวนกระวายระรื่นโขกสำทับ เที่ยงล้า...