พบกันในรายการใหม่ "คำแต้มฅน"
เป็นรายการที่จะนำเสนอมุมมองของผม บุญทอน
ต่อคำพูดที่ได้ยินได้ฟังมา
เพื่อสะท้อนความรู้สึกและความคิดอ่าน
ว่าคำนี้ ความหมายอย่างนี้
เขามีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผมอย่างไรบ้าง
เขามีฤทธิ์ต่อความคิดอ่านของผมในทางใด
และเขาจะส่งผลต่อการกระทำของเช่นไรหนอ
ตามที่รู้ ๆ กัน
คำเป็นหน่วยทางภาษาเล็กที่สุด
ที่มีความหมายในการสื่อสารกันของคนเรา
ส่วนหน่วยทางภาษาที่เล็กสุดจริง ๆ
แต่ยังไม่มีความหมายใด ๆ
คือหน่วยเสียง ประกอบด้วยหน่วยย่อย 3 หน่วยคือ
หน่วยเสียงพยัญชนะ
หน่วยเสียงสระ
และหน่วยเสียงวรรณยุกต์
เมื่อหน่วยเสียงรวมกันเข้า
ถูกเปล่งออกจากปากคนเรา 1 ครั้ง
เรียกว่า หน่วยพยางค์
พยางค์บางพยางค์ก็เป็นคำด้วย
เพราะเปล่งออกมาแล้วมีความหมาย
ในการสื่อสารของคนเรา
ถือเป็นคำพยางค์เดียว
อันมีอยู่จำนวนมากในภาษาตระกูลไต
ในกลุ่มภาษาคำโดดอย่าง ลาว ไทย จีน...
คำมีทั้งคำพยางค์เดียว
คำสองพยางค์ คำสามพยางค์ และหลายพยางค์กว่า
รูปร่างหน้าตาเมืองใช้อักษรแทนภาษาพูด
จึงมีแตกต่างกันไปตามการประสมคำ
ตามที่มาของคำ
ที่มาของคำไทยมาจาก
1.คำไทยแท้ ก็เขียนสะกดตามตัว
2.คำไทยยืมจากบาลี-สันสกฤต
ก็เขียนตามหลักตัวสะกดตัวตาม
ซึ่งอาจมีตัวอักษรเพิ่มจากที่ออกเสียง
มีตัวสะกดตัวตามตัวการันต์
3.คำไทยยืมจากภาษาเขมรโบราณ
ก็มีทั้งคำที่ใช้ รร (ร หัน) มีทั้งคำเต็มและกร่อนเสียง
4.คำไทยยืมจากภาษาจีน อังกฤษ และอื่น ๆ
ก็มีวิธีออกเสียงและการเขียนเป็นตัวอักษรไทย
ที่หลากหลายไปตามภาษาเดิมนั้น ๆ
ถ้าวางภาษาเสียงไว้
หันมาใส่ใจภาษาอักษร
แล้วจะพบว่า
รูปร่างหน้าตาของคำนั้น
ย่อมเป็นไปตามการประสมคำว่ามีกี่ส่วน
3 ส่วนธรรมดา มีเสียง/รูปพยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์
4 ส่วนธรรมดา มีเสียง/รูปพยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + พยัญชนะตัวสะกด
และยังมีการประสมอักษรของคำ 5 ส่วนขึ้นไปอีก มีตัวตาม ตัวตัวการันต์...
คำแต่ละคำจึงออกเสียงต่างกันไป
จึงเขียนเป็นตัวอักษรแตกต่างกันไป
แต่ก็มีอยู่บ้างบางคำ
ที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกัน
ที่เขียนต่างกันแต่ออกเสียงเหมือนกัน
เมื่อพิจารณารูปอักษรของคำ และความหมายของคำนั้น
คนเราเรียนรู้การออกเสียงคำและการเขียนคำได้เหมือน ๆ กัน
แต่เรื่องความหมายที่มากกว่าความหมายตามพจนานุกรมนั้น
คนเราอาจรับรู้ได้แตกต่างกันไป
ตามการสั่งสมไว้ด้วย
การฟังเพลง ฟังผู้รู้ ฟังธรรมะ ฟังเรื่องราวหลากหลาย...
การอ่าน ซึมซับจากนิทาน เรื่องสั้น นิยาย นวนิยาย บทกวี วรรณกรร วรรณคดี...
การใช้พูด เขียนในวาระ โอกาส และรวมถึงในจินตนาการของตน ๆ
ความหมายของถ้อยคำ
ที่คนเรามีและถ่ายทอดออกไป
เพื่อสื่อสารกันนั้น
จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
และหรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ด้วย
ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งสารและผู้รับสาร
มีฐานความลึกซึ้งหรือมิติของความหมายของคำ
ใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันมากเกินไป
ความหมายของคำในตัวเราแต่ละคน
ที่มีไม่เท่ากันนี่แหละนี่ล่ะ
ที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึก ความคิดอ่าน
ที่แตกต่างกันออกไป
คำอาจนำความสุขและความทุกข์มาสู่ผู้ใช้
ก็ด้วยมันมีความหมายต่อใจแตกต่างกันไป
ยิ่งหากเราเผลอลืมไปว่า
คำ ก็แค่ตัวแทนส่วนหนึ่งของความคิดอ่าน
ที่คนเราต่างต้องการสื่อสารกันในความหมายที่ตนมี
ที่ตนต้องการบอก ต้องการสื่อสาร
ก็เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
หากมองในแง่คนเราคือพื้นที่ทางศิลปะ
คำ ๆ หนึ่ง ทั้งรูปเสียง รูปลักษณ์อักษร
และความหมายของมันที่เราหมายเอา ถือเอา
ก็อาจเปรียบเหมือนสีสัน
ที่จักแต่ง จักแต้มจิตใจคนเรา
ให้มีสีสันอย่างนั้น ๆ ตามมันไป
นี่คือสิ่งที่ รายการ "คำแต้มฅน"
อยากจะมาสื่อสาร
โดยยกคำ ๆ หนึ่ง มาคุยกัน ในแต่ละครั้ง ๆ ไป
เพื่อย้ำเตือนความเหมือน ความต่างของความหมายของคำ
ที่คนเรามีเหมือนต่างกันได้เป็นธรรมดา
และเพื่อย้ำเตือนว่า คนเรามีอิสระพอนะ
ที่จะไม่คกเป็นทาสความหมายของมัน
"คำใช้ฅนเป็นพื้นที่แต้มสีสันตามความหมายของมันได้
ฅนเราก็สามารถใช้คำเพื่อเพิ่มสีสันชีวิต
ให้โลกนี้สดสวยใสกระจ่างได้ด้วยเช่นกัน"
แล้วพบกับ "คำแต้มฅน" ครั้งไปครับ สวัสดี.