วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

กลอนลำกำพร้า : คือลมฝนผ่านต้อง

บาดแผล (ทวนมุมมองของคนรักกัน)

 บาดแผล (ทวนมุมมองของคนรักกัน)

คำแต้มของ ธีรยุทธ บุษบงค์

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ-จุดประกายวรรณกรรม  ๒๕๔๕)

 

เส้นลวดขึงไว้ตากผ้า

หายเข้าไปในเนื้อมะม่วงวัยสาว

อย่างจำนน

กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ฝ่ายหนึ่งเคยโอบกอดรัด

ฝ่ายหนึ่งคอยฮึดฮัดคร่ำครวญ

ล่วงมาหลายปี

ฝ่ายหนึ่งกลับครอบงำ

ฝ่ายแรกจำทนอยู่อย่างหมดทางดิ้นรน

ผู้สร้างบาดแผลกลับได้บาดแผลเสียเอง

รอพายุฤดูร้อนแยกทั้งสองออกจากกัน

การพลัดพรากรอฝากแผลใหม่เป็นกำนัลฯ






 

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นิยายรักอักษรธรรม ลองคิดโครงเรื่องกันก่อน

คิดแต่งนิยายรักอักษรธรรม 1

โดย  ฮีอันวา


กลิ่นที่ไม่เคยเป็นอื่น

กลิ่นที่ไม่เคยเป็นอื่น

คำแต้มของ ธีรยุทธ บุษบงค์

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สยามรัฐรายวัน-ชาวกรุง ๒๕๔๔)

 

เธอรู้ตัวบ้างไหม

มันไม่เคยจางหายไปจากชีวิต

ข้างในนั้น

กลิ่นสายน้ำห้วยครกที่เอื่อยไหลลงสู่ลำแม่มูล

ติดตัวเธอไป

ในรถโดยสารสู่เมืองใหญ่

ในรถไฟสู่กรุงลุ่มลำเจ้าพระยา

กลิ่นหญ้าฟางข้างเถียงนาใต้ร่มหว้าชรา

ติดตัวเธอไป

ในตึกเรียนปริญญา

ในห้างสรรพสินค้า   ร้านมิยอมหลับ

กลิ่นดอกไม้หอมของทุ่งรักหลังฤดูเก็บเกี่ยว

จะยังติดตัวเธอไป

ในห้องแอร์สำนักงาน

ในห้องคาราโอเกะ  คลับบาร์

ตัวเลขอายุเพิ่มสู่หลักสองหลักซาว

เธออาจลืมไปว่ามันยังคงอยู่

กลิ่นผ้าไหมแม่ที่เพิ่งตัดจากหูกทอใหม่ใหม่

กลิ่นจอบเปื้อนเหงื่อพ่อที่เพิ่งว่างจากมือดำด้าน

กลิ่นแกงปลาช่อนหนองไผ่ใส่ดอกและหัวหอม

กลิ่นผักกะแยง   มดแดงเปรี้ยว

กลิ่นปลาร้า   ส้มตำ  เมี่ยงลำข่า

.............................

.............................

โอ...กลิ่นพี่น้องเชื้อแถว

กลิ่นที่ไม่เคยเป็นอื่น

จะยังติดตัวเธอไป

ไม่มีวันจางหาย.




วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นักรบไก่หญ้า

นักรบไก่หญ้า

คำแต้มของ  ธีรยุทธ บุษบงค์
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ลมผลัดขน คนลอกคราบ ๒๕๕๗)


        จุดคบความคิดคุ้นเอื้อ                    ส่องไม่รู้เบื่อ
กลางนาผ่องข้าวพราวรวง
        พิศภาพพี่น้องอิ่มทรวง                    ไฟฝันโชติช่วง
ส่องทางพร่างพื้นตื่นพร้อม
        หญ้าแพรกแปลกปลายปมป้อม      เสาะสรรดีพร้อม
ชักชวนเล่นตีไก่หญ้า
        ท่ามทุ่งสีทองทาบทา                       แผ่นดินปู่ตา
พื้นบ้านย่ายายลำเนา
        เปลี่ยนตีเปลี่ยนตี ใหม่-เก่า              เปลี่ยนโลกใบเหงา
เป็นโลกดอกฝันเพิ่มพูน
        บานหอมไม่ยอมเสื่อมสูญ                บริสุทธิ์บริบูรณ์
บ่มเพาะหน่อพันธุ์บำเพ็ญ
        แลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เย็น                  หมดมือค่อยเฟ้น
ที่แกล้วยืนหยัดประลอง
        ที่แพ้แน่แน่วแคล่วคล่อง                   ค้นหาสำรอง
หวังกลับแก้มือประชัน
        รื่นร่มไม้นาบ่ายนั้น                            เมื่อยล้าโรมรัน
สองน้อยพี่น้องหลับพริ้ม
        กอดทหารไก่หญ้าอมยิ้ม                   ฉายแววเอมอิ่ม
ฟ่อนฟางต่างหมอนช้อนฝัน.




ใบซ่อนดอก

ใบซ่อนดอก

คำแต้มของ  ธีรยุทธ บุษบงค์

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์  ๒๕๔๕)




ใบไม้เหมือนเสื้อผ้า

ปิดซ่อนบางสิ่ง

เปิดเผยบางส่วน

 

ดอกไม้แต่งต้นสง่า

ซุกใต้ใบไม้

ปรุงกลิ่นหอมพื้นถิ่น

ถนอมนวลกลีบงามแห่งเผ่าพันธุ์

 

ลมพัดอ่อนโยน

ใบไม้พลิกไหว

ดอกไม้หลบหน้า

เขินอาย

 

ดวงตะวันฤดูหนาว

ส่องแสงทาบทา

ทั่วท้องทุ่งตะวันออกเฉียงเหนือ

วันใหม่ของโลกเก่า

มอบความอบอุ่นแผ่เผื่อ

 

ลมพัดกระหายหิว

ฉีกตัดใบไม้ ปลิดปลิว

แสงเช้าถูกเมฆหมอกกักกั้น

วันเก่าของโลกใหม่

ดอกไม้ไร้ที่ซุก.













วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เคราะห์รักพันปี

เคราะห์รักพันปี
คำแต้มของ  ธีรยุทธ บุษบงค์
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ๒๕๔๔)


    ถึงเป็นเคราะห์ยังคงดำรงมั่น 
หลักประกันขวัญมิ่งด้วยสิ่งไหน
ฝีมือดีเด่นเป็นเช่นไร 
รางวัลกวียังอีกไกล อาจเกินคว้า
ไม่มีใครบังคับ ยอมรับอยู่ 
เห็นครูร้อยคำปรารถนา
เห็นพี่เรียงถ้อยวันเวลา 
เป็นช่อทิพย์ผกา พิรุณพราว
หอมเหลือคำหอมจากอ้อมอก 
ฉ่ำซ่านธารน้ำตกจากห้วงหาว
มือนางฟ้าประคองฝันปันเดือนดาว 
มาปลุกคราวลำเค็ญเป็นกำลัง
หลอมชีวิตคิดเขียนเปลี่ยนอักษร 
เป็นวรรคบทกาพย์กลอนสะท้อนหวัง
สังคมนี้มีแง่มุมน่ารักชัง 
มีความหลังความลึกให้ขุดค้น
อยากเผยความลับจากหับห้อง 
อันเกี่ยวดองด้วยความเชื่อเจือสับสน
เป็นขยะหรือไม่ เคยกังวล 
แต่เหตุผลความรักหนักพอตัว
เขียนความจริงอิงความรัก 
ไม่หาญหักน้ำใจสิ่งเหนือหัว
ด้วยเชื่อมั่นกฎแห่งกรรมสำนึกกลัว 
ดีชั่วคนเห็นเป็นพยาน
เหมือนตกห้วงเคราะห์รัก 
แม้ตระหนักตกต่ำทุกสถาน
บทกลอนประเทศนี้ไม่เบิกบาน 
คนอ่านคนเขียนคนเดียวกัน
จะร่ำไรไยหรือ ให้ยื้อยุด 
รวยที่สุดเขาเล่นหุ้น เล่นเงินผัน
เล่นอักษรสื่อมนุษย์สุดสามัญ 
ไม่อาจกลั่นหมึกหมองเป็นทองคำ
ยอมรับเคราะห์ต่อไปไม่กลัวแพ้ 
กลัวก็แต่คนใกล้กันหันเหยียบย่ำ
อีกพันปีอาจดุ่มด้นไม่พ้นกรรม 
เคราะห์กวีนิพนธ์กระหน่ำยิ้มจำนนฯ

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

โทษตนเองดีแน่ แต่อย่าถึงขั้นโกรธโมโหให้ตน ถนอมน้ำใจตนไว้ดีกว่า

โทษตนเองดีแน่ แต่อย่าถึงขั้นโกรธโมโหให้ตน ถนอมน้ำใจตนไว้ดีกว่า

เรื่อง : บุนทอน ดอนโขง
ภาพประกอบ : Baawthi

ทุกข์สุดท้าย ยังมีความตายรออยู่

 ทุกข์สุดท้าย ยังมีความตายรออยู่

เรื่อง : บ่าวทิ ยางชุมน้อย
ภาพประกอบ : ทางหอม




คุยกันเกี่ยวกับความทุกข์ ในชุด "อักษรส่องใจ" ทำนองเรียนอักษรธรรมผ่านคำพระที่บ่าวทิเคยได้ยินได้ฟัง แล้วเอามาปรับเขียนด้วยอักษรธรรม

"ทุกข์สุดท้ายยังมีความตายถ่าเจ่า"

ลองทบทวนการเขียนอักษรธรรมคำลาวกันดู ลองเทียบดูกับภาพด้านบนเอา
(ไม่อาจพิมพ์อักษรธรรมในบล็อกได้โดยตรง จึงใช้อักษรไทยแทน)

ทุกข์ เขียน  ท ไม้กุ ไม้ซัด(แทน ก สะกด)
สุด    เขียน  ส ไม้กุ ด
ท้าย  เขียน  ท ไม้กา ย
ยัง     เขียน  ย ไม้ซัด ง
มี       เขียน  ม  ไม้กี
ความ เขียน  ค  ว(ตัวเฟื้อง/ตัวห้อย) ไม้กา ม(ตัวเฟื้อง/ตัวห้อย)
ตาย   เขียน  ต ไม้กา ย(ตัว ย ที่เป็นตัวสะกด)
ถา (รอ) เขียน ถ ไม้กา
เจ่า     เขียน  ไม้เก จ ไม้ก่ม(ข้างบน) ไม้กา  (สระ เอา อักษรธรรม ใช้ ไม้เก+ไม้ก่ม+ไม้กา)   

จะสังเกตว่า อักษรธรรมไม่มีวรรณยุกต์ เพราะใช้วิธีปันคำตามความหมายตามคำแวดล้อม คล้ายภาษาอังกฤษ ปู่ย่าครูบาอาจารย์ท่านว่า อักษรธรรม เป็น หนังสือหนังหา  คือ หาอ่านเอาให้ได้ความหมาย  ในทำนอง "ผู้อ่านเป็นคนสำคัญสุด"

แปล หรือ แปลง เป็นอักษรไทยได้  "ทุกข์สุดท้ายยังมีความตายถ่าเจ้า" หรือ "ทุกข์สุดท้ายยังมีความตายรออยู่"

มาว่ากันที่ความหมายอีกหน่อย

ความทุกข์จากการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ แม่จะเจ็บหนักป่วยหนักสักเพียงใด พระท่านให้พิจารณาและบอกกับตนเองเองว่า มันยังไม่มากมายดอก คือท่านให้เฝ้าดู เฝ้าพิจารณา อดทน สู้กับความเจ็บป่วยไป ให้นึกให้ตั้งมั่นว่า นี่ยังไม่ทุกข์ถึงที่สุดดอก เพราะถึง "ที่สุดของทุกข์" มันคือ "ความตาย" นั่นเอง

คำพูดนี้ หากเราหมั่นพิจารณาบ่อยๆ เวลาเราเกิดมีความทุกข์ในชีวิต พิจารณาบ่อยเข้า เชื่อว่า ความทุกข์เราจะน้อยลง เพราะเรามีตัวเปรียบที่มากกว่า นั้นคือความตาย

อาจได้คิดว่า
"ทุกข์แค่นี้เอง ไกลจากความตายอยู่นะ"
"ยังไม่ตายง่าย ๆ ดอก ทุกข์แค่นี้ ทนได้ ๆ"

เอาล่ะครับ "อักษรส่องใจ" ครั้งนี้ ขอลาไปก่อน
พบกันกับคำลาวอักษรธรรมส่องทางให้กำลังใจได้ใหม่ครั้งหน้า 
สบายดี "คึดได้ไปเป็นครับ".






27 ปี กับชีวิตคล้ายหุ่นไล่กา

 

27 ปี กับ แต่ละขวบปี หรือ ครบรอบปี รอบนี้ จริง ๆ คิดอะไรอยู่

เรื่อง : ทางหอม
ภาพประกอบ : บ่าวทิ Baawthi



บ่อยากเว่าหลาย แต่ก็อดเล่าไม่ได้

เขาคนหนึ่งทำงาน
รับเงินเดือนมา 27 ปีเต็ม วันนี้
หลายเรื่องราว หลากรสชาติ
แต่เหมือนพายเรือในอ่าง

เข้ากันดีกับสำนวนของผู้เฒ่า
ลาวฝั่งขวาแม่น้ำของที่เขาเคยสดับ  

"หักไม้หมิ่นบักเขีย 
พายเฮียน้ำเข้าหม่า"

อันหมายถึงคนยุคปลายพุทธกาล
คือ 2500 ปีเป็นต้นมา และต่อ ๆ ไป
ที่จะทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
ทำเรื่องสวยงามมีคุณค่ามากให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจน่ารำคาญใจ

มองอีกมุม
คนยุคเราและยุคต่อ ๆ ไป
ความคิดหลักจักถูกย้ายที่
จากคิดให้ตนและสังคมได้ประโยชน์
ได้พบพานความสงบสุข
กลับจะคิด
ให้ระบบที่ไร้ชีวิต
ให้กฎเกณฑ์ที่สร้างภายหลังเลือดเนื้อเชื้อไข
ด้วยแรงขับและเงื่อนไขผลประโยชน์
แห่งความโลภความโกรธความหลง
พลิกให้เรื่องราวสามัญแสนใสสะอาด
กลายเป็นเรื่องราวอันชวนสงสัย
ในรอยเปื้อนกระด่างกระดำอำพราง
เพียงเพื่อให้ตัวตนอำนาจผลประโยชน์
ในหมู่ตนของตน ๆ ที่มีเพียงกะจิริด
ในองคายพของสังคมใหญ่
ได้ยืดอายุยืนยาวออกไปชั่วกาลนาน
คุมครอบคนทั้งหลาย
ให้ศิโรราบกราบกราน
ราวหุ่นยนต์โปรแกรมสำเร็จรูป
ในยุคโบราณไกลโพ้น


ทบทวนชีวิตในรอบ 27 ปี
แห่งการงานในระบบระบอบ
เขาลงแรงงานเก็บกำขี้ลังเงีย
เพื่ออันใดกันเล่าหนา
เพื่อส่งเมือถวายหุ่นโมเดลสังเคราะห์
ตามลำดับสายชั้น
อันดูเหมือนจะไกลกันคนละโลก
กับการงานแห่งเกียรติยศมนุษย์
เพื่อดูแลช่วยเหลืออุ้มชูพี่น้อง
ผู้เสียหยาดเหงื่อทุกหยาด
ส่งเซ่นเป็นเสบียงคลัง
เลี้ยงดูเขาและคนอื่น ๆ 
ทุกเมื่อเชื่อวัน...

หากการหยัดยืนบนผืนนาอุดม
ด้วยการปล้นปุ๋ยจากที่นาแปลงอื่นมา
เป็นความเลวร้ายน่ารังเกียจ
การงานที่มุ่งสนองคำสั่งหวังกวาดต้อนรีดไถ
ก็เป็นความเลวร้ายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันดอก

อันการลงมือลงแรงใด ๆ
ตามสายพานงานคำสั่งใด ๆ
เพียงเพื่อใครบางใคร ๆ
เพียงเพื่อผลประโยชน์บางใคร ๆ
ย่อมเข้าข่ายการงานอันโสมม!

เขาในสภาพคล้ายหุ่นไล่กา
โพกผ้าตาหม่อง
กลางทุ่งนาสีเทาอดทรายแดงแห้งกรัง
จึงควรหาหนทางเลี่ยงเสีย
จึงสมควรหาทางแก้ไขเสีย
และหากถึงที่สุด
จึงถึงกาลละลาพาจากไกลเสีย.











ยามยอมย้ายที่ ยามนี้ไม่มีใครหลีกเว้น

ใครบ้างเล่า
ติดที่ติดทางติดร่างติดเรือน

หากยังอยู่ดี
หากยังมีแรง
หากยังยิ้มสวย
หากยังหัวเราะใส
หากยังสนทนาละไม
หากยังพอแบ่งปันน้อยใหญ่
หากยังไปมาว่องไว
หากยังเป็นที่พึ่งที่หวังได้
หากยังกินอิ่มนอนอุ่นตื่นเช้าใหม่ ๆ
หากยังเดินทางได้ใกล้ไกล
กลับมาดึกดื่นยังตื่นเช้าไหว
หากยังไม่ต้องใช้ใครพยุงยามย่างย้าย
หากยังไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ นาน ๆ
หากยังไม่นอนติดเตียงจนเกินรำคาญ
หากยังไม่หูดับตาดับ
ใครบ้างเล่าจะยอมย้ายที่
ใครบ้างเล่าจะยอมย้ายร่าง!

-----
ทางหอม
23.07.2565/2022
ฌาปนสถานวัดบ้านเหล่าโป่ ต.ทุ่งมน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร
งานคุณพ่อสัมฤทธิ์ สีหนารถ








วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ที่สูงส่งบรรจงใจ

อันใดเล่า
คือสวนดอกไม้สวยสุด
สูงส่งสุดในความสัมพันธ์ระหว่างเรา
ความรัก
ความสัตย์ซื่อ
ความจริงใจพิสุทธิ์ดวงดอกสะเลเตต้องน้ำค้าง
ความระลึกถึงยามห่างกัน
ความทรงจำดี ๆ ยามชีพวายวาง
ความยอมรับยามตัดสินใจ
ความหยัดแย้งยามไร้เหตุผลดีงาม
ความห่วงใยยามเจ็บป่วยไข้
ความเอาใจใส่ยามทุกข์ท้อรันทดหมดไฟหวัง
ความปรารถนาดียามริเริ่มบางสิ่ง
ความชื่นชมยามประสบชัย
ความอ่อนโยนยามหลงในการกระทำหยาบข่างกระด้างเขื่อง
ความโอนอ่อนผ่อนตามยามลื่นไหลในแผ่ผายคุณธรรมนำโคมทองส่องทางมิตร
ความนิ่งงามยามทุรนทุรายร่ายสบถ
ความเบิกบานชวนรื่นรมย์ยามเศร้าหม่น
ความเป็นกันเองยามตกเป็นทาสกรอบกรงของกฎเกณฑ์ล้าหลัง
ความว่างยามล้นทะลัก
อย่างนั้นหรือ อย่างนั้นไหม
อันใดเอ่ย
คือของขวัญระดับพรีเมียร์
สูงสุดแห่งมิตรภาพระหว่างเรา
หากจะถามฉันในวันฝนพรำสาย
ยามเธอเดินยิ้มกรายผ่านหน้าไป
ยามหัวใจยิ้มรับ
อุ่นเอมจริงแท้
พลัน! ระลึกถึงวันก่อน ๆ
ยามแดดแผดกล้าแทบจะเผาทุ่งข้าวขจีใหม้เป็นจุณเหลือค้างแค่เถ้าธุลีสีนิล
นั่น ยามนั่นแหละ
สิ่งสูงสูดปรากฏ
มิใช่แค่ครั้งสองครั้ง
แต่ทุกครั้ง มันเผยตัวแจ่มชัด
แทรกแสงสว่างอ่อนนวลชวนเคารพรัก
ทำลายม่านโกรธ-เกลียดจนสิ้น
ฉันขอสารภาพกับเธอ
"ยอมให้อภัย"
คือคำตอบ
ยอมให้อภัยเธอทุกสิ่ง
สูงสุดยิ่งแล้ว
ขอพรพลานุภาพความรักสักข้อ 
ขอสวนดอกไม้ชื่อพร้อมให้อภัย
จนแบ่งบานตราบนิรันดร์.

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สัมผัสอิ่มซึ้งซ่าน

บรรดารักสารพัน
อุดมการณ์อันใดนั้น เป็นเอก
อุดมทัศน์อันใดนั้น เป็นโท
อุดมคติอันใดนั้น เป็นตรี
นอกเสียจากว่า
เมียลูกต้องเลี้ยงดูชูช่วย
แม่พ่ออยู่ในสภาวะต้องดูแลใกล้ชิด
พี่น้องผองญาติสนิทต้องช่วยเหลือ
เพื่อนพ้องต้องเทคแคร์
เหมือนถูกสาปส่ง
ความรักชนิดวาววาบหวามสีบานเย็น
ความรักดั่งดอกสะเลเตต้องลมฝน
ความรักคล้ายทางไปนาหมาดฝนกรกฎา
ความรักเหมือนโนนเถียงนาอุดมผักยอดลวกแจ่ว
ความรักประหนึ่งเพลงตั๊แตนบนคันแทนาเขียวใหม่
สำหรับกำนัล
คนยิ้มยากมากหมองหม่น
คนร้องลำทำนองรอคอยไร้กำหนด
คนขี้อายคายคำสารภาพใจ
คนอาภัพเงินคำกำแก้ว
คนเขินอายแม้สายตาอ้อนในกระจกสะท้อนถึงเธอ
ไม่มีวันใช่ไหม
รื่นรมย์รัญจวนเคียงคู่
ฉ่ำหวานซ่านทรวงควงคู่
สบตาเยิ้มยวนชวนเดินคู่
รินร่ำคำสรรรำพันคู่
โอ วันคืนล่วงแล้ว
สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ...
ขวบความขมในคำตอบ
ยังกังวานบาดลึก
ตราบที่ตะวันเช้ายังสาดแสงอุ่น
ตราบที่สายฝนพร่างเปียกกระจกใจร้าว
นึกทวนทบ
ยังโชคดีนัก
ยังมีฤดูฝันให้คิดถึง
ยังมีทางคิดอ่านให้ต่อเติม
นั่นสิ ๆ 
ช่างโชคดีกระไรแล้ว!

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ลมฝนฝอยลอยล่วงผ่าน |บทกวีของ ทางหอม|

ในฝันทุกค่ำคืน
เรื่องที่โพสต์เป็นจริง
ร้อยพันนิยายรายคืน
รักสีดอกขามยามฝนริน
รักสีดอกหว้ายามฝนย้อย
รักสีดอกข่ายามฝนปอยๆ
รักสีดอกขิกยามฝนฮำกล้าเข่า
รักสีดอกแคยามค่ำ ๆ
รักสีดอกผักกะเสดยามสาย ๆ
รักสีดอกฮักยามเซ่า ๆ
รักสีดอกกะโดนยามคึดฮอด
แมนละเดอ
คึดฮอดจึงอ่าน
คึดนำจึงกดไลค์
คึดต่อจึงกดฮัก
คึดไกลจึงกดห่วงใย
คึดหลายจึงกดฮ่องไห่
คึดไปลายต่างจึงกดเหลือใจ
คึดมวนนำจึงกดโอ้ววว้าวววว
นั่นเดเพลงฝนฝอย ๆ
เหนือท่งข้าวพวมเขียว
นาดำแผ่ฮากหยั่งตั้งต้นเตรียมแตกกอ
นาหว่านแย่งแนวกินแข่งเติบใหญ่
ในโลกอันไพศาล
ชีวิตหนึ่งก็แค่เข่ากอหนึ่ง
ฝนมาหลายปานใด
ก็ดื่มกินได้เพียงแค่อิ่ม
น้ำมีหลายปานใด
ก็อาบเย็นได้แค่ทั่วเรือนร่างสรรพางค์กกกอนี้
รักและคึดฮอดปานใด
ยามไกลกัน
ก็แค่ลมฝนฝอยลอยผ่าน
มิอาจเก็บใส่ขวดใส่กะต่าใส่ข่องใส่ยาง

ในฝันทุกค่ำคืน
ยืนอมยิ้มให้สายฝนแสนคุ้นเคย
มิใช่ลมฝนฝอยลอยล่วงผ่าน
หากยังเวี่ยวนในดวงกมล
ปลื้มปริ่มเต็มอกทรวง
ซ่านซึ้งสะท้านคีงบาง
ในฝัน ในฝัน ในใน.



















วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เสื้อ ยาสูบ ด้วยความรักบวกเข้าใจ

-0-

ไม่แน่ดอกเด
   เสื้อแขนสั้นอาจใส่ไม่สบาย
ไม่ระบายอากาศ
ไม่น่าใส่ในวันร้อนอบอ้าว
ไม่น่าเหน็บในกางเกงมีเข็มขัด
   เสื้อแขนยาวอาจต่างแผก
ระบายอากาศดี
วันร้อนอบอ้าวก็ใส่สบาย
เหน็บในกางเกงคาดเข็มขัดดูดี
   ไม่แน่ดอกเดอ

-3-

แน่ไม่น้อย
   พ่อสูบยาเช้ากลางวันเย็น
ก้นยาเรี่ยรายมุมทางเข้าบ้าน
ลูก ๆ กวาดเก็บก้นยา ขอให้เลิก
พ่อยังสูบ ยังทิ้งก้นยา
นานวันเข้า
หลานขอให้เลิกอีกครา
ก้นยาสูบหายไป
ทางเข้าบ้านนวลเนียนตา
   แน่ไม่น้อยเลย

-4-

ชัดกับตา
   โถปัสสาวะหลังห้องน้ำในสถานศึกษาระดับสูง
ก้นยาสูบอัดแน่น เขลอะ เกรอะกรัง
ผนังด้านบนระดับสายตา
ป้ายห้ามทิ้งก้นยาใหม่เอี่ยม ดูตลก
วันพรุ่งของเจ้าของก้นยา
เป็นพ่อที่ใดบ้าง
เป็นตาเป็นปู่ที่ใดหนอ
ทางเข้าบ้าน มุมบ้านใดบ้างเล่า
จะมีก้นยาปนเศษขยะอยู่
   ชัดกับใจ

-1-
   คุณแสดงออกผ่านสัมผัสนิ่มนวล
ผ่านสายตาของอารมณ์รื่นรมย์
ความรักของเขาสีดอกหญ้าบนคันแทนาแห่งนั้น ๆ
แม้ไม่หอม ไม่ไหวหวาน ไม่อวบอิ่ม...
   เพียงเข้าอกเข้าใจสายฝนสายลมแสงแดดแห่งทุ่งกว้างวิจิตร
พร้อมให้อภัยทุกครั้ง ทุกครา
ทุกบทบาทร้าย รุนแรง และร้อนรนของเธอคนหนึ่ง
ช่างแสนสุดมหัศจรรย์ยิ่งล้ำ
นั่นแท้ สมบัติทิพย์บนโลกหล้า
หาซื้อได้ที่ไหนกัน?

-2-
   บนเส้นทางดินทรายหมาดฝน
ระหว่างทุ่งข้าวขจี
ร่ายล้อลีลาเป็นลอนคลื่นยามสายลมฝนบาง ๆ โบกพัดพลิ้ว
ของยามสายขยายฝัน
ยี่สิบกรกฎาศิริกาลบั้น
   ความรักบวกเข้าใจของคุณ
เติบโตน่ารัก น่าถนอมนวลปลั่งปางใด
กลางดวงใจของเขาที่มอบแด่เธอ
ราวเด็กน้อยวัยปลายอนุบาล
เลี้ยงควายบนคันแทแปลงฮ่องกล้าข้าว
ยืนบนเวทีต้นสะแบงแอ่นเอนหลัง
กำลังลำล่องทำนองอุบลตูมบาน
อยู่ว่อนวอน อยู่ว่อนวอน อยู่ว่อนวอน.







วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

แค่คิดก็คุ้ม

เธอคือรูปวาด
ในความคะนึงหา
กลางสวนดอกไม้และผลไม้นานาพันธุ์
มุมน้อย ๆ ของอาณาจักรความรัก
เป็นบ้านของชีวิตข้างใน
เป็นสถานหลบภัย
จากสงครามโลกสมมติสมัยดิจิตอลทะลวงอก
อาจน้อยนิด
อาจมองไม่เห็น
อาจไม่ปรากฏบนดวงหน้าผีเสื้อน้อย
แต่เป็นเธอ
เป็นเธอนี้เอง
เป็นเธอเสมอมา
และเป็นเธอตลอดไป
ความสัตย์จริง
ขยายอาณาเขต
จากชื่นชมห่าง ๆ
เป็นชื่นชมใกล้ชิด
เป็นความชื่นชอบเฉพาะ
เป็นความชมชอบมิสร่าง
เป็นความคิดถึง
เป็นความห่วงหา
เป็นความสิเน่หา
เป็นความงามในความเหงา
เป็นความสวยในความเศร้า
เป็นระฆังทิพย์ นั่น เสียงเธอ
เป็นอัลบั้มทิพย์ นั่น ภาพเธอ
เป็นนิยายทิพย์ นั่น เรื่องราวในสเตตัสเธอ
ยิ่งห่างยิ่งห่วง
แน่ล่ะ มีแอบงอน แอบตำหนิ แอบเคือง แอบโกรธ แอบหึงหวง
แน่ล่ะ อารมณ์อันเกิดจากผัสสะกระทบจิต
แน่แท้ สถานีชีวิต
มีเจ็บไข้ให้ลืมเธอเป็นครั้งคราว
มีการงานให้พักคิดสิเน่หาชั่ววันชั่วคืน
แต่ภาพจำยังแจ่ม
ยอมให้อภัยทุกสิ่ง
เธอคือรูปวาดของความรัก
ฉันรักเธอ
ฉันมิคลายรักเธอ.


วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ฟ้าหม่น

ดินหม่นแห้ง
กอหญ้าหม่นหมอง
ท่งนาหม่นแดง
ต้นไม้หม่นเศร้า
ชาวนาหม่นเหงา
ชาวไร่หม่นหวัง
ชาวสวนหม่นฝัน
ชาวห้วยหม่นหม่น
ชาวบึงหม่นใจ
ชาวหนองหม่นอก
ชาวบ้านหม่นจิต
ชาวท่งหม่นท้อ
ชาวแหหม่นหัว
ชาวเบ็ดหม่นคันแทนา
ชาวมองหม่นน้ำ
ชาวรถไถหม่นขี้ไถ
ชาวรถกระบะหม่นเบื่อ
ชาวมอไซต์หม่นทรวง
ชาวจักรยานหม่นยิ้ม
...
ฟ้าจึงหม่น
ฟ้าร่ำไห้
แม้ในหน้าจักรวาลดิจิตอล
จักรวาลต่อจักรวาล
สุดสายแกแลคซีออนไลน์

เขียดจะนาปลอบใจฟ้า
อย่าโศกาเลยเจ้า
อึ่งบักยางค่อยทยอยคำกำลังใจ

---
ทางหอม
---










วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นิยายอักษรทิพย์

เรื่องราวในห้วงความคิด
เผยตนออกมาเฉิดฉาย
กลางหน้ากระดาษดิจิตอล
ในวันเศร้าลึก
ลึกสุดล้ำค่า
ประกาศชัยชนะเหนือราคาเงินคำ
กระจายข่าวไป
ถึงคนไกลบ้านทั้งหลาย
ถึงคนงานก่อสร้างฝัน
ถึงคนหนุ่มเม้มปากเร่งก้าวรุด
ถึงคนสาวยิ้มระบายหวังก้าวค่อยทยอยก้าว
ถึงคนแก่ยังหัวใจหนุ่มสาว
ถึงคนเก่งในการจัดการตน
ถึงคนฉลาดนำตนถึงทางของตน
ถึงคนแพ้ผู้ชนะใจตน
ถึงคนง่ายที่พักผ่อนในห้วงดอกเหงื่อสะพรั่งหอม
ถึงคนยากที่ย่ำเดินทะนงในเส้นทางสายใหม่ ๆ
ถึงคนเก่าของที่นี่
ถึงคนใหม่ของที่นั่น
ถึงคนนำหมั่นหันมองข้างหลัง
ถึงคนตามเพียรเพ่งทะลุทะลวงเบื้องหน้า
ถึงคนกลางคนใกล้ชิดความนิ่งแน่งเด่นแจ้งกระจ่าง
ถึงคนต่ำเติบตนในป่าหนาสูงภูชันสวย
ถึงคนด้อยดำดื่มรสอมฤตของฝนทิพย์
ถึงคนผ่านทางสีเทา
ถึงคนผ่านทางชายทุ่งทอดร้อยรักหลายโนนเถียงนาหลายหมู่บ้าน
ถึงคนแอบรักในเพลงผิดหวัง
ถึงคนยอมรักขมในคืนน้ำตาพร่างดวงตาดาวและเดือน
ถึงคนป่วยหนักผู้ปลอบประโลมคนเจ็บปางตาย
ถึงคนในสายธารคนทั้งมวล
...
คำพร่ำผ่านอักษรทิพย์
ล้านนิยายสาธก
แทนนิยายชีวิตในทุกจักรวาลทุกแกแลคซี
นั่นน่ะ ๆ
ความจริงยอมค้อมหัวให้ความแต่ง
ในวงข้าวเช้ามุมใดมุมหนึ่ง
ในผืนนาที่กำลังถอนกล้าไถดำนา
ใต้ผืนฟ้าทะมึนเมฆ
มินานช้า มิช้านาน
ทุ่งทั้งทุ่ง โลกทั้งโลก
จะกลายเป็นผืนแพรพืชพันธุ์มรกต
กลืนกินความเห็นแก่ตัวของสรรพสัตย์สิ้นแล.

ทางหอม
ศุกร์ 15 ก.ค. 2565/2022

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ทางเรื่องสั้นฉบับคีต์ คิมหันต์

ทางเรื่องสั้นฉบับคีต์ คิมหันต์

ธีรยุทธ บุษบงค์

๑. คิดเรื่อง : เลือกใดหนามาคิดเขียนเรื่องสั้น
๑.๑. เลือกตัดทอนท่อนชีวิตที่ผูกพัน
๑.๒. เลือกเก็บเกร็ดชีวารอบๆ ตัวที่ประทับใจ
๑.๓ เลือกหยิบแว้บความคิดที่เกิดขณะอ่านเรื่องของคนอื่น

๒. สร้างอารมณ์ : กระตุ้นอารมณ์ตนวิธีใดให้อยากเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง

๒.๑ อ่านเรื่องสั้นของนักเขียนเอก
๒.๒ ดูหนัง ฟังเพลง
๒.๓ ตั้งใจฟังเรื่องเล่าของคนอื่น
๒.๔ เดินทาง ท่องเที่ยว
๒.๕ ท่องไอจี มีความรัก
๒.๖ อ่านเฟช อ่านข่าว
๒.๗ เขียนบทกวีเพื่อนำมาขยายเป็นเรื่องสั้น
 
๓. ลงมือเขียน : เริ่มเขียนเรื่องสั้นเมื่อใดดี

๓.๑ อยากเล่าอะไร เล่าไปก่อน และจงเขียนเล่าจนจบ
๓.๒ อยากเล่าส่วนใดของเรื่องก่อนก็เล่าเลย ค่อยนำมาจัดลำดับทีหลัง
๓.๓ เขียนทิ้งไว้สักเวลาหนึ่ง
๓.๔ เมื่อคิดถึงมันค่อยหยิบมาอ่านทบทวนความคิดอ่าน
๓.๕ ค่อยๆ แก้ไข/พัฒนา/ขัดเกลาภาษา/ตัดต่อ/แต่งเติม/ปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงให้เรื่องราวตรงกับใจเรามากที่สุด

๔. จัดทำต้นฉบับ : จะจัดทำต้นฉบับสำหรับเผยแพร่เรื่องสั้นสักเรื่องอย่างไร

๔.๑ พิมพ์เรื่องสั้นที่เขียนจบแล้วมาอ่านอีกรอบและหาข้อบกพร่อง
๔.๒ พิมพ์ส่งให้ผู้รู้ช่วยอ่านเพื่อขอรับคำแนะนำ
๔.๓ นำข้อบกพร่องและคำแนะนำมาพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรให้เรื่องสั้นเราดีที่สุด
๔.๔ แก้ไขเรื่องสั้นให้สมบูรณ์โดยพิจารณาองค์ประกอบต่างๆให้เหมาะสมกลมกลืนกัน
๔.๕ พิสูจน์อักษร สำนวน ประโยค วรรคตอน ย่อหน้า สัญลักษณ์การลำดับเรื่องให้ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถานและตามเจตนาสื่อสาร
๔.๖ จัดพิมพ์เรื่องสั้น ใช้ฟร้อนต์มาตรฐาน ขนาดพอยท์ 16 ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ตัวเรื่อง รายละเอียดเกี่ยวกับผู้แต่ง (ชื่อ-สกุลจริง ที่อยู่ทางไปรษณีย์ อีเมล์ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อกลับได้ (และเลขบัญชีธนาคารที่สามารถโอนเงินเข้าได้ ในกรณีชนะการประกวดหรือผ่านการพิจารณาตีพิมพ์))
๔.๗ พิจารณาส่งผลงานไปเผยแพร่ในสนาม/เวที/สำนักพิมพ์ ที่มีแนวคิดการคัดสรรเรื่องสั้นสอดคล้องเหมาะสมกับเรื่องสั้นของเรา.

———————————————

แนะนำเพจในเฟชบุ๊ค : ชายคาเรื่องสั้น

ทางหอมบุ๊คเฮ้าส์

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย



“ความสุขทุกนาทีที่ได้คิดเขียน คือ ยอดรางวัลของนักประพันธ์”


 





คุยกันก่อนอ่านเขียนเรื่องสั้น


ก. คำสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับงานเขียน


๐. องค์ประกอบพื้นฐานของงานเขียน ได้แก่ รูปแบบ เนื้อหา และภาษา

รูปแบบ หมายถึง ลักษณะองค์รวมของงานเขียนที่ถูกกำหนด
ขึ้นและนักเขียนต่างยอมรับกัน

เนื้อหา หมายถึง เรื่องราว-สาระ-แนวคิดที่นักเขียนนำเสนอไว้

ภาษา หมายถึง ถ้อยคำ สำนวน โวหาร ที่นักเขียนใช้ประกอบสร้างรูปแบบและแสดงเนื้อหา

๑. วรรณคดี และวรรณกรรม

วรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่ดีเยี่ยมทั้งรูปแบบ เนื้อหา และภาษา (ไทย = เรื่องเก่า รูปแบบร้อยกรอง เนื้อหาตามอินเดีย-ตำนาน ภาษาดี / เทศ = เรื่องร่วมสมัย รูปแบบร้อยแก้ว เนื้อหามนุษย์ร่วมสมัย ภาษาดี)

วรรณกรรม หมายถึง ๑ งานเขียนทุกชนิด ทุกประเภท รวมถึงงานวิชาการด้วย ๒ งานเขียนประเภทเรื่องแต่งที่ดีทั้งรูปแบบ เนื้อหา และภาษา

๒. ร้อยกรอง และร้อยแก้ว
ร้อยกรอง หมายถึง งานเขียนที่กำหนดรูปแบบตายตัว มีคณะและสัมผัสบังคับชัดเจน
ร้อยแก้ว หมายถึง งานเขียนที่ใช้ถ้อยคำเหมือนภาษาพูดทั่วไป

๓. วรรณกรรมเยาวชน นิยาย และนวนิยาย

วรรณกรรมเยาวชน หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นสำหรับให้เยาวชนอ่าน ส่วนมากจะเป็นเรื่องยาวร้อยแก้ว

นิยาย หมายถึง เรื่องแต่งขนาดยาวประเภทบันเทิงคดีร้อยแก้ว ที่มีแนวคิด เนื้อหาซ้ำๆ ที่ไม่สมจริงมากนัก แสดงผ่านมุมมอง กลวิธีการเขียน และสำนวนภาษาซ้ำๆ ค่อนไปทางเยิ่นเย้อ ไม่สละสลวยนัก

นวนิยาย หมายถึง เรื่องแต่งขนาดยาวประเภทบันเทิงคดีร้อยแก้ว ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาอาจแปลกใหม่แต่สมจริงด้วยสัมพันธบทขององค์ประกอบของเรื่อง แสดงผ่านมุมมอง กลวิธีการเขียน และสำนวนภาษาที่สร้างสรรค์

๔. สารคดี และบันเทิงคดี

สารคดี หมายถึง งานเขียนที่นำเสนอเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้แต่ง หรือเรื่องที่ผู้แต่งมีประสบการณ์ร่วม นำเสนอผ่านรูปแบบเรื่องเล่า ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

บันเทิงคดี หมายถึง งานเขียนที่ผู้เขียนคิดแต่งขึ้นจากจินตนาการ และความคิดอ่านสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงและซาบซึ้งในความงามของความคิดและภาษาไปพร้อมกัน อาจใช้รูปแบบวรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร หรือกวีนิพนธ์ ก็ได้

๕. เรื่องเล่า และเรื่องแต่ง

เรื่องเล่า หมายถึง งานเขียนที่เขียนขึ้นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต

เรื่องแต่ง หมายถึง งานเขียนที่คิดเขียนขึ้นจากจินตนาการ หรือดัดแปลงจากเรื่องจริง

๖. นิทาน และเรื่องสั้น

นิทาน หมายถึง เรื่องแต่งขนาดสั้นที่เน้นให้คติสอนใจ อาจเหมือนหรือเหนือจริงก็ได้

เรื่องสั้น หมายถึง เรื่องแต่งที่เน้นแนวคิดสำคัญ (แก่นเรื่อง) เดียว ใช้องค์ประกอบของบันเทิงคดีร้อยแก้ว มีตัวละคร ๑-๕ ตัว ความยาวที่สามารถอ่านจบภายใน ๕ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง (ใช้เกณฑ์คนอ่านหนังสือเร็วปกติ) สำนวนภาษาซ้ำๆ ค่อนไปทางเยิ่นเย้อ ไม่สละสลวยนัก

นวนิยาย หมายถึง เรื่องแต่งขนาดยาวประเภทบันเทิงคดีร้อยแก้ว ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาอาจแปลกใหม่แต่สมจริงด้วยสัมพันธบทขององค์ประกอบของเรื่อง แสดงผ่านมุมมอง กลวิธีการเขียน และสำนวนภาษาที่สร้างสรรค์

๔. สารคดี และบันเทิงคดี

สารคดี หมายถึง งานเขียนที่นำเสนอเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้แต่ง หรือเรื่องที่ผู้แต่งมีประสบการณ์ร่วม นำเสนอผ่านรูปแบบเรื่องเล่า ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

บันเทิงคดี หมายถึง งานเขียนที่ผู้เขียนคิดแต่งขึ้นจากจินตนาการ และความคิดอ่านสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงและซาบซึ้งในความงามของความคิดและภาษาไปพร้อมกัน อาจใช้รูปแบบวรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร หรือกวีนิพนธ์ ก็ได้

๕. เรื่องเล่า และเรื่องแต่ง

เรื่องเล่า หมายถึง งานเขียนที่เขียนขึ้นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต

เรื่องแต่ง หมายถึง งานเขียนที่คิดเขียนขึ้นจากจินตนาการ หรือดัดแปลงจากเรื่องจริง

๖. นิทาน และเรื่องสั้น

นิทาน หมายถึง เรื่องแต่งขนาดสั้นที่เน้นให้คติสอนใจ อาจเหมือนหรือเหนือจริงก็ได้

เรื่องสั้น หมายถึง เรื่องแต่งที่เน้นแนวคิดสำคัญ (แก่นเรื่อง) เดียว ใช้องค์ประกอบของบันเทิงคดีร้อยแก้ว มีตัวละคร ๑-๕ ตัว ความยาวที่สามารถอ่านจบภายใน ๕ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง (ใช้เกณฑ์คนอ่านหนังสือเร็วปกติ)


ข. องค์ประกอบของบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว


๑. ชื่อเรื่อง คือ คำ/วลี/ข้อความ ที่ใช้เรียกแทนตัวบทงานเขียนนั้นๆ

๒. แก่นเรื่อง คือ แนวคิดสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนซ่อนไว้และนักอ่านสังเคราะห์ได้

๓. โครงเรื่อง คือ กรอบหรือวงจรของเรื่องราว

๔. ตัวละคร คือ ผู้แสดงในเรื่องราวนั้นๆ

๕. บทสนทนา คือ คำพูดคุยของตัวละคร

๖. ฉาก คือ ส่วนที่สร้างบรรยายให้เรื่องราว ประกอบด้วย สถานที่ วันเวลา สภาพแวดล้อม สถานการณ์ ฯ

๗. กลวิธีการเล่าเรื่อง

๗.๑ มุมมอง (ผู้เล่าเรื่อง) และน้ำเสียง

๑) มุมมอง

(๑) มุมมองจากสายตาพระเจ้า/นก

มุมมองจากสายตาผู้อยู่เบื้องบนที่รู้เห็นเรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช้สรรพนามแทนผู้เล่าเรื่อง และใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ แทนตัวละคร

(๒) มุมมองจากสายตาคน
(๒.๑) มุมมองจากสายตาผู้สังเกตการณ์ ไม่มีส่วนร่วมในเรื่อง อาจไม่ใช้สรรพนามแทนผู้เล่าเรื่อง หรือใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ แทน ผู้เล่าเรื่อง เช่น ผม ฉัน ข้าพเจ้า… และใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ แทนตัวละคร

(๒.๒) มุมมองจากสายตาตัวละครเอก ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนผู้เล่าเรื่อง เช่น ผม ฉัน ข้าพเจ้า… และใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ แทนตัวละครอื่น

(๒.๓) มุมมองจากสายตาตัวละครรองหรือตัวละครประกอบ ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนผู้เล่าเรื่อง เช่น ผม ฉัน ข้าพเจ้า… และใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ แทนตัวละครอื่น


๒) น้ำเสียง หมายถึง แนวโน้มของความรู้สึกจากมุมมองของผู้เล่าเรื่องต่อเรื่องที่เล่า ว่าเรื่องเป็นไปอย่างไร อาจมีน้ำเสียงเป็นบวกเชิงชื่นชม ยกย่อง ยินดี สนับสนุน ฯ หรือมีน้ำเสียง เป็นลบเชิงซ้ำเติม เยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี เสียดเย้ย ฯ หรือมีน้ำเสียงเป็นกลางๆ

๗.๒ การลำดับเรื่อง

๑) ลำดับเรื่องตามปฏิทิน

๒) ลำดับเรื่องแบบย้อนกลับ

๓) ลำดับเรื่องแบบสลับไปมา

๗.๓ การเปิด-ปิดเรื่อง

ใช้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเปิด-ปิดเรื่อง เช่น บรรยายตัวละคร บรรยายฉาก บรรยายแก่นเรื่อง หรือ ใช้บทสนทนา …



ค. คุณสมบัติของคนเขียนเรื่องสั้น



คุณสมบัติ ๔ มี ที่คนต้องการจะเขียนเรื่องสั้นพึงแสวงหาและควรรักษาไว้



มีเรื่องสั้น เคยอ่าน ผ่านทางคิด

มีชีวิต ลิขิตปอง ครรลองขวัญ

มีใจเพียร เขียนจบ องค์ครบครัน

มีมิตรแนะ แก้กลั่น บรรณาธิการ

 

 


วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ซ่านทรวงใน




ในอกอึงคะนึง
ระหว่างความผิดบาป
กลางซอกหลืบความเศร้า
ไย...มิอาจลบเลือนเล่า

ความสุขแห่งความคิดถึง
แม้เพียงปลายก้อย
ของคำโพสต์แสนสั้น
อันอาจเทียมเท่าตึกระฟ้า
มหาภูผาตระหง่าน

หากซ่อนไว้
ลึกสุด
แผ่เผยเพียงแผ่ว
ในบทเพลงของหัวใจ
รำพันทุกวินาที
ขณะลมหายใจ
เฮือกสุดท้าย

โอ...
อันความซ่านทรวงใน
มิอาจเอ่ยคำ.

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สายลมเดือนเจ็ด

สายลมเดือนเจ็ด
ฝนไม่มาร่วมด้วย
ข้าวกล้าแห้งเหี่ยวเฉา
คล้ายชีวิตในโลกโรคระบาด

ความเจ็บไข้
แพร่กระจายความเจ็บใจ
เจ็บปวดรวดเร็วหลากไหล
ราวข่าวคราวในโลกออนไลน์

มนุษย์กะจ้อยร่อยเอ๋ย
แก่งแย่งทำร้ายกัน
ไม่ดูเลยรึ
สงครามระหว่างต้นไม้ใบหญ้า
มีไหม?

สายลมฝนเอ๋ย
โปรดปรานีข้าฯ
ให้กล้าข้าวได้ชื่นฉ่ำ
ให้ใบเขียวก่อง
ให้น้ำเต็มนา
ให้ปลาคืนน้ำ
ให้รักคืนใจ

สายลมเดือนเจ็ด
พัดพาชีวิตชีวาวันเก่าก่อน
ให้ความอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นชื่นเย็น
ย้อนมาฝาก
ย้อนมาเตือน
ย้อนมารำลึก
ย้อนมาเริ่มต้นใหม่


-ทางหอม-
พฤ. ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕





วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ผลัดใบคน ผลัดใบครู • ต้นไม้ชีวิต 1

จะว่าไปแล้ว ชีวิตคนเราหากเปรียบเป็นต้นไม้สักต้น สถานะและบทบาทหรือภาระหน้าที่แต่ละช่วงวัย อาจเปรียบได้กับใบที่ผลัดแต่ละรุ่น

รุ่นใบที่ผลัดไปแต่ละปี แต่ละห้วงนั้น ผลิเกิด แก่ แล้วผลัดไป

หากนับเป็นห้วงใหญ่ ๆ อาจมีใบผลัดจากต้นไม้ชีวิต ไม่กี่ชุด ได้แก่ ชุดใบเด็ก ชุดใบเรียน ชุดใบคน ชุดใบครู

ชุดใบเด็ก หน้าที่หลักคือ กินนอน ฝึกหัดช่วยเหลือตนเอง รับรู้ เตรียมพร้อมในครอบครัวสำหรับการเรียนรู้โลกกว้างต่อไป

ชุดใบเรียน หน้าที่เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้างเพื่อการเรียนรู้ขั้นสูงขึ้น และการประกอบสัมมาอาชีพ

ชุดใบคน หน้าที่สร้างชีวิต สร้างครอบครัว สร้างตัวตน แสวงหาเงินทองสร้างฐานะ สร้างชื่อเสียง สร้างเกียรติยศ ด้วยความรู้ความสามารถที่สร้างสมมา

ชุดใบครู  ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์แก่ลูกหลานญาติมิตร รวมถึงผู้แสวงหาหนทางสร้างตน จำเพาะคนที่มีโอกาสได้รู้จักสื่อสารกันตามวาระชีวิต

ต้นไม้ชีวิตคนเรา ผลัดใบแต่ละชุดในห้วงเวลาแตกต่างกันไป ตามความพร้อมตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน

บางชีวิตอาจใช้เวลาผลัดใบนานมากในบางชุดใบ นั่นแสดงว่าชุดใบนั้นเขียดสดไม่เหลืองเหี่ยวเฉาแห้งง่าย และใช้เวลาน้อยนิดในบางชุดใบ นั่นแสดงว่า ชุดใบนั้นไม่สมบูรณ์ ขั้วใบติดเชื้อโรค อากาศไม่ดี แดดแรง ลมแรง ฝนชุม ไม่เหมาะแก่การยืนระยะตามที่ควรเป็น

เมื่อเรามองชีวิต ผ่านต้นไม้ชีวิตเช่นนี้ "ครู" ในนามสัมมาอาชีพหาเลี้ยงตน สร้างชีวิต ก็เป็นเพียงชุดใบคน หาได้มีความหมายยิ่งใหญ่กินความให้ต้องบังคับสืบทอดศรัทธามากเกินหน้าเกินตาไปกว่าสัมมาอาชีพอื่นใดเลย

ตรงข้าม ต้นไม้ชีวิตใด มีชุดใบแต่ละชุด เกิดมา แก่ตัว แล้วร่วงลาผลัดใบไป ในห้วงเวลาอันเหมาะสม กลมกลืนกับสภาวะแวดล้อม มีคุณค่า ควรค่าแก่การเข้าไปสัมผัสเรียนรู้เอาเป็นครูสอนสั่งสาระเสริมจิต สานก่อพลังชีวิตเสริมใจ สร้างแรงบันดาลให้เป็นต้นไม้ชีวิตได้เติบโตงอกงามได้ นั่นแหละ ๆ แน่แท้ "ครู" อย่างควรไหว้คารวะด้วยใจบริสุทธิ์

______________________
ความเรียง โดย ครูกะเลา
อา.3 ก.ค.2565






ที่สุดของรัก

คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก  คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...