วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 9 โดย ทางหอม

บทที่ ๙  ฝันประหลาด

บ้านหลังใหญ่ กำลังมีงาน มีสาวๆ แต่งชุดไหมสีนวลเป็นโหล พร้อมกับแขกเหรื่อเต็มลานหญ้าข้างบ้านสวน เขากำลังเข้าพิธีแต่งงานกัน ธรรมดาจะต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เขาอยู่ในนั้นแต่งชุดสูทสีเงิน นั่งเคียงข้างเจ้าบ่าวที่แต่งชุดสูทขาวสะอ้าน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ 

พอหมอพราหมณ์ร่ายคำจบลง พิธีกรก็เชิญญาติผู้ใหญ่ ผูกแขนคู่บ่าวสาว และเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เงินแบงค์ร้อย 100 500 1,000 ในอ้อมกอดฝ้ายสีขาวคาดเหลืองขมิ้น ทยอยผูกหุ้มข้อมือคู่บ่าวสาว จนเป็นพุ่มคล้ายกำไรข้อมืออันใหญ่หนา เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็พลอยได้รับกำไลข้อมือฝ้ายกอดเงินแบงก์อย่างนั้นด้วย แม้ว่าความใหญ่และหนาของกำไลจะน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็อดยิ้มไม่ได้ 

ตัดฉาก วูบวาบที่ภาพถัดไป เขาไปนั่งเคียงคู่เพื่อนเจ้าสาว ที่แคร่ไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านอีกหลังหนึ่ง ห่างออกไปสักสี่ห้าหลัง ยังได้ยินเสียงเพลงลูกทุ่งหมอลำขับกล่อมคนในงาน ตอนนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นปรากฏตัวบนเวทีที่หันสู่สวนผลไม้พื้นบ้านนานา สักพัก พิธีกรก็ได้เวลาสัมภาษณ์ เกี่ยวกับนิยายรักของทั้งคู่ อีกไม่นาน ทั้งคู่ก็จะลงจากเวทีเพื่อพบปะถ่ายภาพร่วมกับแขกที่ให้เกียรติมาร่วมงานซึ่งนั่งประจำโต๊ะจีน กว่าจะครบทุกโต๊ะ ก็คงใช้เวลาเกือบชั่วโมงทีเดียว เขากับเธอนั่งเคียงข้างกัน หย่อนขา สายตามองไปตามถนนดินแดงลูกรังจากงบ อบต. ปนดินทรายประจำถิ่น ที่เบื้องซ้ายเป็นป่ากล้วยและสวนหอมกระเทียม เบื้องขวาเป็นแนวรั้วไม้ไผ่ มีบ้านปลูกอยู่เป็นระยะทอดยาวไปจนถึงถนนดำ ทั้งสองสบตาแล้วหันกลับไปมองถนน บทสนทนาเงียบดำเนินไป รอยยิ้มที่มุมปากเป็นผลจากความรู้สึกข้างใน เขาและเธอเพิ่งพบกันวันนี้แต่ต่างรู้สึกว่า เหมือนเคยรู้จักกันมานานแสนนาน แล้วภาพก็เบลอค่อยๆ เลือนหายไป... 

ข่อหล่องัวเงีย หันมองไปรอบๆ หน้าจอมือถือเครื่องเท่าใบพะยอมหนุ่มสาวบอกเวลาบ่าย 3 โมง เขาฟุบหลับในหอสมุดมหาวิทยาลัยไปนานแค่ไหน เขาฝันไปหรือนี่ มือขวาวางทับหนังสือ โมนผจญโลก ของ อาแล็ง ฟูร์นิแยร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส ความฝันของเขา พ้องกับฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ อืมมม...บทที่ 13 งานประหลาด ที่โมนเผอิญเดินทางไกลไปได้ร่วมงาน ได้พบสาว และเก็บมาฝัน เมื่อเขากลับมาที่โรงเรียนกินนอนแล้ว ก็วางแผนจะกลับไปที่นั่นอีก 

ข่อหล่อตั้งใจจะอ่านนวนิยายปกแข็งสีม่วงเล่มย่อมๆ นี้ ให้จบภายในวันหยุดเรียนเสาร์อาทิตย์พร้อมแผนการจะกลับไปอ่านให้กะปอมก่าฟังในช่วงปิดเทอมหน้าแล้งที่จะถึงนี้

---



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 8 โดย ทางหอม

บทที่ ๘  เพื่อนคนใหม่

หลังจากข่อหล่อจากกะปอมก่าไปเรียนในเมืองสามปี

เด็กหนุ่มบางคนเทียวมาที่ห้างไม้มันปลา แล้วหายไปทีละคนๆ

เด็กหนุ่มบางคนหยุดมองกระท่อมหนังสือแล้วจากไป ไม่กลับมาอีกเลย บางคนกลับมาเล่นห้างครั้งสองครั้ง แล้วจากไป กระท่อมหนังสือได้แต่รอใครสักคน

วันหนึ่งกลางเดือนธันวาคม ใบสะแบงเก่ากำลังทยอยหล่นห่มโคนต้นและแผ่นดินแม่ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมามุดหน้าต่างเข้าไปในกระท่อมหนังสือ และขลุกอยู่ทั้งวัน เหตุการณ์นี้ทั้งหมดอยู่ในสายตาของกะปอมก่า

เขาคนนั้นแวะมาที่นี่อีกหลายวัน แล้วก็หายไปเป็นสัปดาห์ 

วันนี้วันเสาร์ เขากลับมาแต่เช้า ลมหนาวพัดเย็นสบาย หอมกลิ่นใบไม้แห้งเจืออายดินชื้นหมอก หลังมุดเข้ากระท่อมแล้วเขาขึ้นมาบนห้างไม้มันปลา ไม่พูดพร่ำทำเพลง นั่งลงอ่านหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ปกเป็นรูปวาดแมวดำตัวใหญ่ถือลูกแอปเปิ้ลสีแดง มีนกนางนวลตัวน้อยขนสีขาวจับอยู่ตรงปลายจมูกแมวอ้วนตัวนั้น

แน่นอน หนังสือเล่มนี้ข่อหล่อเคยอ่านให้กะปอมก่าฟังสองหรือสามเที่ยว จำไม่ชัดนัก

ชื่อเล่มกะปอมก่าจำได้  นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน  ผู้แต่ง หลุยส์ เซปุลเบดา นักเขียนชาวชิลีผู้น่ารัก เขียนเรื่องเด็กได้ประทับใจ

เด็กหนุ่มอ่านหนังสือไป อมยิ้มไป ชุดวอร์มสีเทาขับให้เขาดูเคร่งขรึมขึ้น

กะปอมก่ายังนอนอยู่บนราวห้าง มองดูเขา

แอบคึดถึงข่อหล่อ ป่านนี้จะผจญภัยในเมืองอย่างไรเล่าหนอ

หลังจากข่อหล่อจากกะปอมก่าไปเรียนในเมืองสามปี เด็กหนุ่มคนหนึ่งเทียวมาที่ห้างไม้มันปลาและกระท่อมหนังสือ วันแล้ววันเล่า...

---





วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 7 โดย ทางหอม

บทที่ ๗  หมู่ดวงดาว

“ดาวสวยมากครับอ้าย คืนนี้” ข่อหล่อเปิดเรื่อง
“เหงารึ คิดฮอดบ้านสินะ” ฮอย ฮิมมูนถาม
“ว่าจะไม่คิด”
“ธรรมดา สมัยอ้ายไปต่างที่ก็เป็น”
“ไปไสแหน่อ้าย ไกลบ่”
“ไปวังเวียง เมืองเล็กงามธรรมชาติ อยู่กึ่งกลางระหว่างทางจากเวียงจันทร์ไปหลวงพระบาง  อ้ายไปเฮ็ดงานวิจัยเกี่ยวแก่ธรรมชาติท่งท่าในวรรณกรรมลาวหลังสมัยใหม่ ไปอยู่เกือบแปดเดือน ว่าแม่นไปใช้ชีวิตแบบบ้านๆ สมัยเฮายังเป็นเด็กน้อย ใชีชีวิตในธรรมชาติป่าเขา สายน้ำลำธาร และวิถีญาติพี่น้องเก่าแก่ อยู่นั่นแล้วมีความสุข บ่ต้องคิดหยังหลาย แต่ความขัดแย้งมันก็มี อย่าว่าแต่ความขัดแย้งกับผู้อื่น หรือระหว่างแนวความคิดคนเฮา ที่ย่อมแตกต่าง ไอ้ความขัดแย้งในใจนี่ล่ะโตการใหญ่ มันมี มันแย้ง มันต่อสู้กันหลายกว่าความขัดแย้งระหว่างคนกับคนหมู่ใดๆ”
“เป็นจังใด๋นอครับ ผมคือบ่เข้าใจ” ข่อหล่อจ้องตาคนเล่า
“ประมาณว่า ชีวิตที่มีเป้าหมายแต่ต้องแลก กราฟชีวิตขาลงที่เป็นพ่อหม้ายอยู่แล้ว มันกะคือดิ่งลงไปบ่ยอมเงยขึ้น พอคึดฮอดเมียที่ตายไป นี่เฮามุมานะทำงานจนลืมดูแลคนที่ฮักเฮา จนวาระสุดท้ายของคนฮักเฮาถึงได้ลงมือลงใจดูแลกัน แต่นั่นล่ะ มันเหมือนสายเกินไป แต่เฮากะต้องใช้งานตัวเดียวกันนี่ล่ะ รักษาหัวใจที่เศร้าเหงาท้อหม่น จนแทบจะละลายระเหยหายสูญไปกับวันเวลา เออ...น้องเคยอ่าน เรื่องเล่าจากดาวดวงหนึ่ง ของ  พิษณุ ศุภ. บ่ บทบรรยายตอนตัวละครพ่อตายลง นั่นแหละประมาณนั่นแหละ” 
“เคยอ่านยุครับ แต่...อืม...ผมกะบ่คิดว่าเข้าใจ อยู่ดี” 
“เรื่องนั้น เป็นความขัดแย้ง ของคนสองคน จนต้องแบ่งดาวคนละครึ่ง แหม่นบ่ การทำงาน บ่ว่าอยู่ไส ก็มีปัญหา แม้ว่า บ่มีปัญหากับคน ก็อาจจะมีปัญหากับความคิด วิธีการ หรือบ่กะธรรมชาติ แต่ที่สุด เฮาก็ต้องพิจารณา ว่าเฮาจะอยู่ เพื่อหยัง เพื่อความถูกต้อง เป็นธรรม ของใผ ในระดับใด แล้วเฮาอยากได้อิหยังที่สุด เฮาก็ต้องพิจารณา ชั่งน้ำหนัก ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรจะเลือกหรือบ่ มันก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเฮาเอง ที่ต้องลุกขึ้น ยืนหยัดเพื่อมัน หรือเจ้าว่าใด๋” 

บักข่อหล่อฟังแล้ว คึดอ่าน... เหมือนกำลังจะเข้าใจบ้าง แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำเว่าของอ้ายลาว มันหมายถึงหยังแหน่นอ อีหลีแล้ว คนเฮาต้องเลือกความเป็นธรรมที่ถูกต้อง เป็นคุณเป็นค่าทั้งต่อโตเองและส่วนรวม... อย่างนั่น ใช่ไหม 

ดวงจันทร์ค่อยโผล่พ้นทิวไม้และหลังคาบ้านจัดสรร ทอแสงนวลอาบใบหน้าด้านขวาของคนทั้งคู่ที่มองไปยังผืนน้ำในห้วยวังนอง สายลมหนาวปลายเดือนธันวาคมโชยพัด หอมกลิ่นแปลงผักบั่วผักเทียมปนอีตู่และกะแยงของไทบ้าน มาจากที่ไหนสักแห่งไม่ไกล มันทำให้เขาก็อดคิดถึงเพื่อนกะปอมก่าไม่ได้ 

เอาล่ะเขาควรบอกอ้ายฮอย ฮิมมูน ดีไหมว่า เขาเขียนร่างนวนิยายเยาวชนไว้เรื่องหนึ่ง อยากถามพี่ว่า ควรขัดเกลาแล้วส่งไปวารสารประจำเมืองไหม เห็นมีคอลัมน์นวนิยายสั้น ไม่จำกัดแนว แต่ดูเหมือนอ้ายลาวจะรับรู้ได้ด้วยพลังบางอย่าง เพิ่นจึงพูดขึ้นว่า “คั่นเจ้าสิส่ง ไปวารสาร อ้ายว่า เอามาเฮ็ดเป็นตอนลงเว็บบล็อก แล้วอ่านทำคลิปลงยูทูบ ลงเพจ กันเอง เจ้าว่าสิดีกว่าบ่ เขาว่า เมื่อเกิดมีโฆษณาขึ้น แล้วเราจะมีรายได้ ว่าซั่นนะ” 

แล้วคำปรึกษา คำแนะนำ คำถาม คำตอบ การวางแผนทำคอนเทนต์นวนิยายสั้นลงออนไลน์ของทั้งคู่ ก็ไหลเรื่อยคล้ายสายลมเย็นโชยสบาย พาหมอกเหมยลอยเวี่ยเรี่ยเหนือผืนแผ่นน้ำใสของห้วยวังนอง ลอยไป ลอยไป ไกลแสนไกล ราวหมู่นกเสรีเริงร่าโบกบินไปยังหมู่ดวงดาวพราวระยิบเหนือเส้นขอบฟ้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปถึงที่นั้น ณ โมงยามใดของชีวิต

---



วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 6 โดย ทางหอม

บทที่ ๖  บทสัมภาษณ์รุ่นพี่

ข่อหล่ออาสาเข้าทำงานเป็นกองบรรณาธิการวารสารโรงเรียน จากการชักชวนของรุ่นพี่ที่ได้อ่านบทกวีของเขาในวารสารประจำเมือง

งานแรกในฐานะกองบรรณาธิการวารสาร “หายโศก” ท้าทายและสนุกไม่น้อย 

ข้างล่างนี้ก็คือ ผลงานการสัมภาษณ์รุ่นพี่ศิษย์เก่าของโรงเรียน ผู้เป็นนักเขียนดีเด่นประจำปีของวารสาร เมืองฮิมมูน 

...

เรื่องจากปก

ฮอย ฮิมมูน กวีผู้รักนวนิยายสั้น


บ้านพักสองชั้นทรงลาวฝั่งขวาแม่น้ำของ ตั้งอยู่แคมห้วยวังนองฝั่งตาเว็นออก แทรกตัวอยู่ในสวนผลไม้สไตล์บ้านๆ มีบักเขียบ บักเฟียง บักขาม และกำแพงแผงกกหวดข่าสลับกกมอนที่แตกพุ่มใบเขียวดั้วคล้ายฉัตร เกี้ยวก่ายด้วยเครือหญ้านาง พื้นดินโบราณร่วนปนทรายดูสะอาดเพราะหญ้าถูกดายเสียเมื่อไม่นานมานี้

เรานั่งจิบชาใบหม่อนที่แม่ของกวีหนุ่มชงมาให้ คุยกันถึงประเด็นการสร้างงานกวีในยุคสื่อดิจิตอลออนไลน์...

กวีดีเด่น ดาวดวงใหม่ประจำวารสาร “เมืองฮิมมูน” ปี ๒๕๖๐ ได้ไขข้อข้องใจของนักอ่านหลายๆ คนว่า ทำไมบทกวีของเขาจึงเป็น  กลอนเปล่า และทำไมเขาจึงฝันจะเขียนนวนิยายสั้น เชิญจิบกวีทัศนะได้ ณ วาระนี้

หายโศก :  เล่าที่มาของนามแฝง ฮอย ฮิมมูน ให้รู้จักหน่อย

ฮอย ฮิมมูน : คือบ่ายมื้อหนึ่ง ไปเดินฮิมแม่น้ำมูนแถวๆ หาดคูเดื่อ เดินตีนเปล่า ไปเหยียบเปลือกหอยกาบหรือหอยจีบจี้ เลือดออกเป็นทาง เห็นฮอยเท้าสองสี สีทรายกับสีเลือด โอชีวิต มันมีสีสันนะ ฮอยเลือดบนหาดทรายฮิมแม่น้ำมูน เลยเอามาเขียนเป็นบทกวีบทแรกลงใน เมืองฮิมมูน ตั้งชื่อบทว่า ทางเลือด ใช้นามแฝงว่า ฮอย ฮิมมูน นี่ล่ะ

หายโศก :  เขียนบทกวีดีๆ ทำไมจึงฝันอยากเขียนนวนิยายสั้น

ฮอย ฮิมมูน : อ่านนวนิยายสั้นอิตาลีที่เยาวชนควรอ่านของ อเลซซานโดร บาริกโก เรื่อง ไหม  ที่เขียนขึ้นจากการได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา เป็นเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่เดินทางไกลไปยังอีกฟากฝั่งโลก มาญี่ปุ่นนี่ล่ะ ตัวละครเอกทำงานนี้เพียงปีละไม่กี่เดือน แต่มีรายได้สูงมาก นวนิยายสั้นเล่มนี้เขียนโดยใช้เทคนิคการแบ่งเป็น บทสั้นๆ จำนวน ๖๕ บท แต่ภาษากระชับ คมคายหลาย แม้คำที่นักเขียนเลือกใช้จะดูเรียบง่าย ก็ตาม ชีวิตคนเราก็ควรเอาอย่างวิธีเขียนของนักเขียนคนนี้นะ และผมก็ตามอ่านงานของ บาริกโก เล่มอื่นๆ อีกนะ ชอบทุกเล่มเลยอยากเขียนมั้ง เอาฉากแถวๆ เมืองเรานี่อาจเป็น ฮิมห้วยวังนอง ทางไปอำเภอตระการพืชผล ผาแต้ม ชายแดนช่องเม็ก หรืออื่นๆ ใส่ลงในนวนิยายสั้น น่าจะหม่วนสนุกดี คุณว่าไหม

หายโศก :  อยากให้เล่าแผนการสร้างฝัน จากกลอนเปล่า ทำไมต้องเป็นนวนิยายสั้น 

ฮอย ฮิมมูน : ก็ไม่มีอะไรมาก กลอนเปล่า หรือบทกวีกาพย์กลอนโคลงฉันท์ มันอาจเขียนเป็นเรื่องยาวอย่างท้าวปางคำรจนาสังสินไซได้ แต่คนอ่านยุคดิจิตอล หรือผมเองก็เถอะ อาจบ่อินบ่เก็ทนำ นิยายน่าจะเหมาะกับสมัยนิยมกว่า ภาษานวนิยายนี่ ผมชอบ ผมว่ามันเรียบง่าย ลดชั้นเชิงการเขียน ดูเป็นเพื่อน เป็นกันเองกับผู้อ่าน อ่าน สัมผัสได้ง่าย คันอยากเขียนบทกวีด้วยนำ กะสามารถใส่ลงไปในนวนิยายได้เลย และนวนิยายสั้นมันเปิดกว้างกว่าเรื่องสั้น และมันก็กระชับกว่านวนิยายขนาดยาว ถูกใจผม ผมพอใจกับมัน พอใจรูปแบบที่ยืดหยุ่น

...

เฮากะจิบชาใบมอนของแม่ แกล้มข้าวจี่ไส้น้ำอ้อยที่แม่กวีท่านกรุณาจี่มาเสิร์ฟ เพราะเห็นคุยกันออกรส บทสนทนากันตอนนั่น ว่าด้วยเรื่องสำมะปิ ความฮักแหนฺ เรื่องหนังสือนำ และเรื่องความเก่าหลังของกันและกัน... จนตาเว็นลับทิวไม้ฝั่งห้วยวังนองที่มีคลื่นน้อยทยอยอำลาแสงสุดท้ายของวัน

---





วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 5 โดย ทางหอม

 บทที่ ๕  สงครามกลางใจ


20 พฤษภา

วันเกิดข่อย สิบห้าปี แต่วันนี้พ่อกับแม่ทะเลาะกัน

เสี่ยวเอย เจ้าว่าบ่ ผู้ใหญ่เอาแต่ใจคักหลาย 

        “ให้ลูกเฮียนด้วยโตเอง สิได้ฮู้จักฮับผิดชอบ วางแผนชีวิต” แม่ว่า

        “ต้องเข้าโรงเรียน ต้องเรียนพิเศษ ต้องกวดวิชา ติวและติว ว่าสั่น สิบ่ทันเขา” 

         พ่อเสียงแข็ง แล้วก็ต้องลงกันบ่ได้ ตอนข่อยจบ ปอหก นั่นเทื่อแรก นี่จะจบ มอสาม อีกเทื่อว่า ไปเรียนด้วยเจ้าของอยู่บ้าน อยู่กระท่อมหนังสือของพ่อนี่ก็วิเศษนะ แปลกแท้ แต่พ่อกลับอยากยัดข่อยเข้าไปในคุก ชื่อ โรงเรียน พ่อเป็นนักอ่าน นักเขียน แต่กลับอยากให้ลูกสิ้นอิสระภาพ สิ้นเอกราชทางความคิด  

          เจ้าว่าคือข่อยบ่ กะปอมก่า


29 มิถุนา

คึดฮอดหนังสือเล่ม ๔ ปีนรกในเขมร ของ ยาสึโกะ นะอิโต แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต

เขมรฆ่ากันเอง คนต่างชาติในเขมรตอนนั่น ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปนำ

สงครามนี่ บ่ปรานีใผ อีหลีเด

สงครามของพ่อกับแม่ แก่งแย่งลูกให้เป็นไปตามวิธีการของตน นี่ก็สงคราม แต่ข่อยก็มาอยู่ในโรงเรียนในเมืองแล้วล่ะ 

กะปอมก่าเอย สงครามนี่ พ่อชนะแม่แล้ว


11 ธันวา

วันนี้ ก็เข้าเดือนที่สามของเทอมสองแล้ว ที่ข่อยต้องจากเจ้ามาเรียนต่อในเมือง

ปิดปีใหม่ สิหลบต่าวไปหาเดอ เสี่ยวเอย

จักสิทนเรียนอยู่ในเมืองได้ดนปานใด๋ดอก ข่อยนี่กะดาย

---




วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 4 โดย ทางหอม

บทที่ ๔  จดหมายจากเมืองใหญ่

ขณะตัวเอกทั้งสองของเฮา กำลังนอนอาบแดดอุ่น เพลินนับดอกสะแบงหล่นระบายพื้นห้างไม้ ในยามสายของวันหยุดปลายเดือนสุดท้ายของปี จักรยานของบุรุษไปรษณีย์ก็มาจอดอยู่ข้างล่างแล้ว

ยิ้มรับจดหมายซองสีน้ำตาล ขนาดกว้างสองฝ่ามือเรียงต่อกัน กลับขึ้นห้างมา มองเห็นหลังบุรุษไปรษณีย์หนุ่มหลบลับหายไปกับมุมถนน ตรงซุ้มดอกส้มหมั่งข้างกระท่อม

จดหมายลายมือตาแพง ที่บักข่อหล่ออ่านให้เพื่อนกะปอมก่าของเขาฟัง ในสายวันนั้น มีเนื้อความดังนี้


ที่บ้านพักในเมืองใหญ่กวมแม่น้ำเจ้าพระยา

20 กรกฏ ปีคึดฮอดบ้าน


ถึง ข่อหล่อหลานรัก ผู้อยู่แคมห้วยครก ระหว่างแม่น้ำมูน-ชี

ป่านนี้หลานคงใหญ่เป็นหนุ่มน้อยแล้ว สองหรือสามปีแล้วนะ ที่น้าบ่ได้ส่งข่าวทางจดหมายมายาม 

ชีวิตในเมืองใหญ่ นอกจากลางานเดินทางท่องไปในโลกกว้าง ก็มีหนังสือนี่แหละช่วยเติมพลังใจให้สู้งานต่อได้อีก

น้ามีหนังสือใหม่มาฝากนะ ลองอ่านดู

คนแต่งบอกไว้ว่าเขียนจากเรื่องจริง ตอนที่เผิ่นเป็นเด็กหนุ่มไปอยู่อเมริกา ทำงานหาเงินเรียนเอง แต่ก็มาโดนจับ ชีวิตในคุกในค่ายจึงเป็นเรื่องราวชวนติดตาม 

คนเราไกลบ้าน ไกลญาติมิตร ในยามคับขัน สิ้นไร้ทางสู้ เจ้าว่าเขาจะรู้สึก นึกคิดอะไร อย่างไรบ้าง?

บางครั้งจิตใจคนเราก็ต้องการบททดสอบที่หนักหนา มันจึงจะตื่น รู้ และยอมรับการก้าวออกไปจากกะลาอันเก่าแคบ…

เอาไว้อ่านตอนเรียน มอห้า เด้อ หากหลานคึดว่า วัยส่ำเจ้ายังไม่เหมาะจะอ่าน นักเรียนเก่าอเมริกรง ที่แต่งโดยเด็กหนุ่มบ้านนอกไทร้อยเอ็ด ผู้ทำงานเป็นบ๋อยโรงแรมเก็บเงินไปเรียนอเมริกา วันจะบิน คนรอบข้างที่ไม่รู้เรื่อง ยังเย้ยหยันอยู่เลยว่า “ส่ำเจ้า อย่ามาเว่าให้งึดหลาย” นั่นก็เพราะสมัยนั้น ถ้าไม่รวยจริง ไม่สอบได้ทุนของรัฐ ก็ยากคักแหน่ที่ใผจะไปเรียนถึงเมืองนอกเมืองนาได้  เออ น้าเกือบลืม อดีตนักเรียนเก่าอเมริกาคนนี้ใช้นามแฝงว่า        อน โพนทอง ว่าส่านนนน

         ไว้พ้อกันปีใหม่ เด้อหลาน  


คึดฮอดเจ้าเท่าจ่อ-กระด้ง-กะต่า...

น้าสาวนักเดินทางคนงาม


ปล. เขียนไว้ดนนาน แต่หัวก่าส่งมา ย่อนว่าคาเลาะยุ555





วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 3 โดย ทางหอม

 บทที่ ๓  ชื่อเดียวก็พอ


นามของเธอ


เมื่อใครถาม

นามเรียกขานชวนฟัง

นามสมมติชวนหลงใหล

นามคุณค่าชวนเคารพ

นามนิยมชวนสดุดี


เธอมิพึงใจ

คล้ายกกยางนาร้อยปีไม่สะท้านหนาวต่อสายลมเดือนสิบสอง


เมื่อใครย้ำ

กะปอมก่า เชยนะ

กะปอมก่า ไม่จำเพาะเจาะจงเลย

กะปอมก่า ไม่ใช่ภาษาทางการสักหน่อย

กะปอมก่า ชื่อพื้นเมืองน่ารังเกียจ

กะปอมก่า ไม่มีในพจนานุกรมมาตรฐาน รู้ไหม

กะปอมก่า ชื่อเทียม ชื่อปลอม ๆ ขอบอก


เธอมิข้องขัดขุ่นเคืองแม้เพียงน้อย

คล้ายกับความนิ่งสงบของชื่อปกนวนิยายเยาวชน

หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน

งานประพันธ์ของ หลุยส์ เซปุล์เบดา

นักเขียนชาวชิลี ผู้ลี้ภัยเผด็จการทหารในประเทศ

ไปตั้งหลักที่เยอรมัน และตั้งรกรากในสเปน

ฉันเคยขอตั้งชื่อให้เธอ

พ่อฉันก็เคยคิดตั้งชื่อให้เธอ

และอาจมีใครอื่น เคยอยากให้เธอมีชื่อพิเศษ

แต่เธอไม่ต้องการมันหรอก


กะปอมก่า ชื่อเดียวก็พอ

เธอกระซิบกับฉันในเช้าแดดใสอาบใบสะแบงร่วง


ข่อหล่อ 

พฤศจิกา ๒๕๖๓


กะปอมก่า นิ่งฟังบทกวีของข่อหล่อ อมยิ้ม ยืดคอ และก้าวเดินช้า ๆ เป็นสง่า ไต่ราวลูกกรงของนั่งห้างไม้มันปลา ไปอาบแดดเช้า 

ข่อหล่อพับกระดาษบทกวีลงในซองจดหมายสีน้ำตาล ลุกขึ้น ก้าวไปกระซิบเบา ๆ ข้างหูเพื่อนรัก

“ฉันจะนำไปส่งบรรณาธิการวารสารประจำเมืองนะ วันที่วารสารออก เราจะฉลองดื่มชาดอกจานกัน ฉันเลี้ยงเอง”

***




ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 2 โดย ทางหอม

บทที่ ๒  สุดปรารถนาของกะปอมก่า


ว่าไปแล้ว สัตว์ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรอก แม้ไม่อ่าน ชีวิตก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไม่มีอะไรเสียหาย ยังมีความสุขกับกิจกรรมธรรมดา ๆ การออกหากิน การใช้สัญชาตญาณเป็นอยู่ การเดิน วิ่ง ขับถ่าย นอนหลับพักผ่อน ตลอดจนพูดคุยสนทนากันในหมู่ของตน แต่สำหรับกะปอมก่าตัวหนึ่งนี้ กลับไม่ใช่ 

เขาต้องการอ่าน ไม่สิ เขาต้องการฟังใครสักคนอ่านหนังสือให้ฟัง เพราะเขาอ่านหนังสือได้ช้าเต็มที แต่ถึงแม้จะอ่านได้เร็ว มือของเขาก็เล็กเกินจะเปิดหน้าหนังสือได้อย่างง่ายดายเช่นมนุษย์ทั่วไป การฟังมนุษย์อ่านเรื่องราวในหนังสือให้ฟัง เป็นกิจกรรมที่กะปอมก่าตัวนี้ติดอกติดใจ ขนาดว่า ถ้าขาดสิ่งนี้แล้ว ชีวิตของเขาย่อมเหี่ยวเฉาลง คล้ายหอมต้นเล็ก ๆ ที่ชาวสวนไม่ได้รดน้ำ มาสักสามวันห้าวันนั่นเทียว

ที่ข้างกระท่อม บนต้นสะแบงใหญ่ สูงจากพื้นดินราวห้าเมตร มีนั่งห้างไม้รูปวงกลมล้อมรอบอยู่ มีบันไดไม้วนเป็นเกลียวให้เดินขึ้นสะดวก 

วันแรกที่เจอข่อหล่อ เขานอนอาบแดดอยู่บนราวไม้เหนือลูกกรงของห้าง ที่จริง หากห้างนี้ มีหลังคาและฝาผนัง พร้อมประตูหน้าต่างแล้ว ก็จะเรียกบ้านต้นไม้ได้เลยล่ะ ดูพื้นไม้สิ ปูด้วยไม้มันปลาแก่อย่างดี ลูกกรงและราวนั่นก็ด้วย

สามปีก่อน วันนั้น เด็กหนุ่มปั่นจักรยานมุ่งตรงมาตามทางดินทราย ที่มีไม้ประจำถิ่น พวกหว้า พะยอม ผะอุง ส้มหมั่ง ติ้ว... ยืนเด่นเป็นแนวกั้นระหว่างทุ่งนาสีเหลืองกล้วยสุกกับป่าละเมาะที่มีไม้พุ่ม พวกเล็บแมว ลอมคอม สาบเสือ... ไกลออกไป มองเห็นหมู่บ้านอยู่ลิบ ๆ

มาถึง พิงจักรยานไว้โคนต้น รีบวิ่งขึ้นบันได ทิ้งตัวลงนั่งพิงลำต้นสะแบง ดึงหนังสือปกสีน้ำเงินเล่มเล็กออกมาจากกระเป๋าย่ามผ้าไหมลายตาหม่อง กางหนังสือออกและเริ่มอ่านออกเสียง 

กะปอมก่านอนฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนกนางแอ่นหนุ่มตัวหนึ่ง กับเจ้าชายรูปงามที่ถูกปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ทั้งสองให้สัญญาใจกันและร่วมมือกันช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากในเมืองนั้น มันเป็นเรื่องราวที่กะปอมก่าฟังแล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนปริ่ม ๆ จะมีน้ำใส ๆ เอ่อท้นดวงตาเล็ก ๆ ของเขา เพราะถ้อยคำของนักเขียน ที่บรรยายถึงความรู้สึกของนกน้อยผู้อิ่มเอมกับภารกิจสำคัญของชีวิต ได้อย่างชวนซาบซึ้งใจ มีข้อความทำนองว่า การที่เราได้เกิดมาแล้วมีโอกาสแบ่งปัน ช่วยเหลือชีวิตอื่น ๆ นั้น นับเป็นโชคมหาศาลและคุ้มค่าที่ได้เกิดมาอย่างที่สุด แม้ว่าท้ายที่สุด ตนเองอาจต้องสละชีวิตเพื่อภารกิจนั้นก็ตาม

หนังสือในมือเด็กหนุ่มในวันนั้น ปกนอกพิมพ์ชื่อเล่มว่า เจ้าชายผู้มีความสุข ท้ายเล่มระบุชัดว่า ผู้แต่งเป็นนักเขียนและกวีชาวไอริช นามของเขาคือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wild, 1854-1900).

***




ข่อหล่อเพื่อนกัน | บทที่ 1 โดย ทางหอม

บทที่ ๑ เด็กชายในกระท่อม


ไม่นานมานี้ มี กะปอมก่า ลำคอสีเขียวอมฟ้าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นสะแบงใหญ่ข้างกระท่อมหลังหนึ่ง ซึ่งเด็กหนุ่มนาม ข่อหล่อ อาศัยอยู่ ทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน

เด็กหนุ่มชอบอ่านหนังสือ กะปอมก่าจึงได้ฟังเรื่องราวสดใหม่ จากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกอยู่เสมอ

“นายอ่านอะไรอยู่”

“นวนิยายเยาวชน”

“เรื่องอะไรรึ”

พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร ของ ฌอง-หลุยส์ ฟูนิเยร์

“นักเขียนประเทศ?”

“ฝรั่งเศส”

“มันน่าสนใจตรงไหนล่ะ”


“ก็ตรงเป็นเรื่องราวของเด็กชายกับพ่อที่เป็นหมอในชนบท ฉันก็เป็นเด็กชายนะ แต่ไม่ใช่ลูกหมอเหมือนในเล่มนี้”

“ในเรื่องเขาเป็นหมอที่ดี เป็นพ่อที่ดีไหม”

“เป็นหมอใจดี คนไข้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา เขาก็รักษาให้ฟรี  หมอไม่ค่อยรักษาสุขภาพตนเองเลย กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่เขาก็เป็นพ่อที่ดีแปลกๆ นะ ต่างจากชาวบ้านชาวเมือง”

สายลมเย็นปลายเดือนตุลาคม โชยพัดไล้ลำตัวกะปอมก่า มันนอนอยู่กลางวงกบหน้าต่าง ทับตรงรูลงกลอน ท่าทางการคุยกับข่อหล่อเพื่อนของมันนั้น เหมือนนักเรียนผู้ใคร่รู้คนหนึ่ง

“นายอ่านมันให้เราฟังได้ไหม อยากฟังแล้วล่ะ”

“ได้สิ ถ้านายต้องการ”

***





วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ทางหอม | แนะนำตัว


 เว็บบล็อกชื่อ thanghom (ทางหอม)  ตั้งใจนำเสนองานเขียนรูปแบบ "วรรณนิยาย" ที่หลากหลาย โดยจะเน้นไปที่การนำตัวบทชีวิตของผู้แต่งและคนรอบข้างรวมทั้งผู้คนที่ผ่านพบ มาปรุงรสปรับเเรื่อง เลือกบทตอนชวนพิศมาเพิ่มลิมิตของพลังวรรณศิลป์ 

"ทางหอม" เป็นนามของนักพร่ำคำแต้ม (อาจใช่ หรือไม่ใช่ กลอนเปล่า หรือ กวีร้อยแก้ว) ที่เริ่มงานเขียนมาแล้วในโลกออนไลน์ส่วนตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และเริ่มเผยแพร่งานในเฟซบุ๊คส่วนตัวนาม 

thirayuttha butsabongkha: https://www.facebook.com/thhbhs  

ในเพจ ทางหอมบุ๊คเฮ้าส์  ในเพจ คำแต้ม จนกระทั่งมีเว็บไซต์ส่วนตัว  kamtaem.com อันเป็นที่ทางนำเสนอผลงานส่วนตัว  

https://www.kamtaem.com/

นอกจากงานในนามนักพร่ำคำแต้ม แล้ว  ทางหอม ยังมีงานเรื่อง กะปอมก่ากับข่อหล่อ เพื่อนกัน  ที่ถือเป็นผลงานเรื่องเล่าขนาดสั้นหรือนวนิยายสั้นเรื่องแรกของ ทางหอม  



เขาเรียกรูปแบบงานเขียนเรื่องนี้ว่า "วรรณนิยาย" เรื่องเล่าเพื่อเยาวชน หรือ วรรณกรรมเยาวชน หรือ นิยายสั้นสิบบท  บรรจุเรื่องราวบางเสี้ยวฉากชีวิตส่วนตัวที่เขาประทับใจ ปรุงด้วยความคิดฝันเกี่ยวแก่สังคมนิยมหนังสือ ผู้อ่านที่สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ลิ้งค์ที่วางไว้นี้นะครับ  

https://www.blockdit.com/series/5db55cd0dbd7b70cfeedca70

และยังมี saimingsainan.com อีกที่ๆ มีงานของ ทางหอม แสดงตัวตนอยู่ เชิญแวะไปให้กำลังใจกันครับ  

http://saimingsainan.com/2019/12/24/%e0%b8%81%e0%b8%b0%e0%b8%9b%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%88/

สำหรับที่นี่ ทางหอม | https://www.thanghom.blogspot.com จะเป็นอีกทุ่งนาสวนของ ทางหอม  ที่ยินดีจะนำเสนอผลงานเรื่องต่อๆ ไป  ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกัน...


ด้วยรักและนับถือผู้อ่าน

ทางหอม
จ.16.11.2563

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มาก่อน


อาคารของสงบพริ้ม
มณฑปสีกลีบลำดวน
หลายใจเพียรพนมมือ
นมัสการความเบิกบาน

เธอไม่มีชื่อใด
มดดำในซอกกลีบ
อาศัยเป็นที่พักร้อน

ข้อปล้องของคำรำพึง
นับได้ไหมเล่า
'ประกายทองแท้'
ในชั่วขณะลมไหวใบวาบ

ในระเบียบกิ่งก้าน
เธอเป็นดารา
นำแสดงบทบาท
ผู้มาก่อนฤดูกาล

พฤศจิกายน  ลมหนาว
มีนาคมที่จะถึง  หนาวใด?

|คำแต้ม by ທາງຫອມ|
อังคาร 5 พ.ย. 2556

-----

|เล่าตามคำแต้ม|
ชายหน้าเศร้า

เมืองเราเป็นเมืองปิดมานาน  เมืองที่สนุกสนานเบิกบานของพ่อค้าแม่ขาย เจ้าหน้าที่เมืองรุ่นเก่าและเครือข่าย เมืองที่เคลื่อนตัวไปอย่างเอื่อยอ้อยสร้อยของชาวบ้านชาวเมือง เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนตกงาน  ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น

สมัยนั่น 'บางคน' นับหัวได้ที่เกิดมาพร้อมใบหน้ายิ้มแย้ม แต่หลายต่อหลายคน หรือต้องเรียกว่า 'คนส่วนใหญ่' นั่นแหละ ต่างก็เกิดมาพร้อมใบหน้านิ่งราวหุ่นฟางไล่กาบนคันแทนาในฤดูนาปรัง

อย่างไรก็ช่าง  เมืองของเรา สามร้อยปีแล้วตั้งแต่ก่อเกิด ไม่ปรากฏในความทรงจำใครเลย ว่ามีคนใบหน้าเศร้า  มีเพียง ยิ้ม กับ นิ่ง

จนเมื่อชายคนหนึ่งย้ายเข้ามาเช่าเฮือนพักของโฮงเฮือนกกไม้ชื่อ "มิ่งแมนแนนสาย" ตรงหัวมุมถนนกกหว้าตัดกับถนนกกกะยอม ในปีเถาะรอบที่แล้วนั่นดอก คนในเมืองเฮาจึงค่อยเริ่มรู้จักคนหน้าเศร้าคนแรก ก็คือชายเจ้าของเฮือนเช่ากกส้มแบงหลังแอ่นนั่นล่ะ
 
ที่จริง ชายคนนี้ก็ไม่เชิงว่าย้ายมาอยู่ใหม่อีหยังดอก  เพราะเขาก็คือคนเมืองเฮานี่เอง

สมัยหอมกระเทียมยังเป็นสินค้าส่งออกประจำเมือง คนกว่าครึ่งค่อนเป็นชาวสวนหอมกระเทียม  พ่อแม่ของเขาก็คือหนึ่งในคนส่วนใหญ่นี้ 

แต่พอวิกฤตราคาหอมกระเทียมห้าปีติดต่อกันครั้งนั้น ประกอบกับสภาเมืองออกนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาเมืองหลังสมัยใหม่ เน้นให้ชาวเมืองเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการโฮงเฮือนกกไม้ให้พักเซา ท่ามกลางธรรมชาติบ้านนาป่าสวน ประธานเมืองและคณะประสานการก่อสร้างบ้านต้นไม้กับวิศวกร สถาปนิก และนายช่างรับเหมาพร้อมทีมงานที่มีชื่อเสียงของเมือง ซึ่งหลายต่อหลายคนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลการออกแบบและสร้างบ้านต้นไม้จากเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว รวมทั้งวางแผนเชื่อมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถีชนกับทางการส่วนกลางและประเทศอ้อมข้างอ้อมแอว โฆษณาในเว็บไซต์-แฟล็ตฟอร์มชั้นนำ ให้คนมาพักอยู่กินในเมืองของเฮา โดยใช้สโลแกนว่า "พักสบายตลอดทริป เรียนรู้ประกายวับวิบ ทางกะพริบชีวิตคนหอมกระเทียม หนึ่งเดียวในโลกา"

นั่นแหละ ๆ ตอนนั้น  เขาจบมัธยมปลายพอดี พ่อแม่จึงให้เขาตัดสินใจจะอยู่ช่วยท่าน ทำธุรกิจบ้านต้นไม้ตามนโยบายของเมือง ที่สภาเมืองมีศูนย์อบรมพัฒนาให้เบ็ดเสร็จ พร้อมมีทุนสำรองให้ทุกบ้านที่ต้องการเปลี่ยนจากทำเกษตรเป็นทำธุรกิจ  ส่วนที่ไม่พร้อม ไม่ต้องการวิถีใหม่ ทางเมืองก็รับเข้าทำงานในระบบโครงข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง โดยบรรจุงานตามความถนัดและสมัครใจ  

เมืองเราจึงไม่มีคนตกงาน มีอยู่มีกิน มีสวัสดิการดีถ้วนหน้า เพราะกว่าห้าสิบปีแล้ว ที่ชาวเมืองพร้อมใจออมเงินเป็นกองทุนสวัสดิการเมือง 40%ของรายได้ต่อปี  ช่วงที่หอมกระเทียมราคาดี กองทุนเมืองจึงมีเงินรวมกว่าแปดร้อยล้าน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเมือง ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ให้นำไปตั้งกองทุนรวมแบบสภาพคล่องเยี่ยม ความเสี่ยงระดับกลางมาต่ำ ในตลาดหลักทรัพย์  จนถึงตอนที่เขาจบมัธยมปลายก็มีดอกกำไรรวมเงินต้นกว่าห้าหมื่นล้าน  ลูกหลานที่มีหน่วยก้านดี เมืองก็ส่งไปเรียนวิชาอาขีพหลากหลายแขนงตามแผนงานของเมืองที่วางไว้ สู่อนาคตที่สดชื่นของชาวเมืองทุกคน นั่นเอง  เขาจึงเดินทางไปเรียนต่อต่างเมือง 

เมืองที่เขาเลือกไปเรียน เปิดสอนวิชาหนังสือและวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้า ใช่! เขาจบสาขานี้ และกลับมาสานต่อแผนงานของเมือง ฝ่ายหนังสือประจำเมือง (การสร้างสรรค์ คัดสรร และจัดพิมพ์หนังสือวรรณกรรมประจำเมืองชุด "ความเศร้าในรูปเงาชาวหอมกระเทียม")  

หนังสือของฝ่ายวานนี้ งานสวัสดิการสติปัญญาของเมืองนำไปไว้ประจำเฮือนเช่ากกไม้ทุกห้อง ทุกหลัง ให้แขกคนที่มาเที่ยวมาพัก ได้อ่าน ได้รู้จักประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของเมืองเรา แบบที่พวกเขาจะจดจำไปชั่วชีวิต  และอดไม่ไหว จะต้องไปบอกต่อให้คนมาเที่ยว กินอยู่ ใช้จ่ายที่เมืองเราอย่างต่อเนื่อง  สืบไป  และยังส่งให้ทุกบ้านมีไว้อ่านปูมหลังเมืองของยรรพชนฮ่วมกันนำพร้อม

"บอกอ ที่แพงฮัก เรื่องข่อยต้องปรับปรุงจังใด๋ บ่น้อ" สาวนักเขียนประจำเมืองถาม
"อืมม... มีนิดนึงนะ อ้าว...นี่ต้นฉบับและลายมือที่ตรวจแก้แล้ว เอาไปอ่านทวนเดอ บ่เข้าใจส่วนใด เดี๋ยวแวมาโสกัน อีกเทื่อ" ชายหน้าเศร้า บอกอหนังสือวรรณกรรมประวัติศาสตร์ความเศร้าประจำเมือง ยิ้มน้อยๆ ให้สาวน้อยนักเขียนหน้าใหม่
"เนื้อหา เกี่ยวแก่ประวัติกลุ่มแม่ญี่แม่ญ่านักมัดผัก พอได้ยุน้อ อ้ายบอกอ" น่ำเสียงเธออ่อนหวาน สำเนียงวาทชันแข็งแรงอมความจริงใจเป็นที่สุด
"ได้แหม ได้ งามเลย  แก้กันอีกรอบเดี๋ยวส่งโรงพิมพ์ประจำเมือง ให้เขาออกแบบ จัดหน้า หาคนวาดปก แล้วได้ ประชุมกองบอกอเมืองอีกเทื่อ สรุปงานบั้นท้ายนั่นแล้ว กะสิได้พิมพ์เล่มล่ะ  ดีใจนำนะ" ชายหน้าเศร้ายิ้มยินดีกับคู่สนทนา..

|คีต์ คิมหันต์|
พุธ 4.11.2563/2020










ที่สุดของรัก

คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก  คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...