วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

วิทยากร โสวัตร กับฆาตกรฯ ของเขา


ตายเกินจริง ตายชวนตีความ น้ำเนื้อน่าค้นหา
ฆาตกร และเรื่องสั้นอื่นๆ  ของวิทยากร  โสวัตร
“ให้อ่านอีก ก็ยังอยากอ่าน”

   ผมก็เป็นฆาตกรคนหนึ่งเมื่ออ่านฆาตกรจบ แต่ละเรื่อง และทั้งเล่มก็อยากกลับ
ไปอ่านอีก อยากกลับไปทบทวนเพราะการลำดับเรื่องในเล่ม ทำให้ชวนติดตาม ติดตามตัวละคร ติดตามเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ อ่านจบแล้วบางข้อมูลยังไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ ในการเชื่อมโยง แม้ว่าภาพรวม บรรยากาศของเรื่อง หรือแม้แต่
แก่นเรื่องจะปรากฏชัดในใจระดับหนึ่งแล้ว แต่ในฐานะคนอ่านที่อยากวิจารณ์ด้วย จึงจำเป็นต้องกลับไปพลิกดู อ่านซ้ำ และเชื่อมโยงข้อมูล เหตุการณ์ตัวละคร
ให้เข้าใจมากขึ้น

   อย่างไรก็ดี ถ้ามีใครถามว่า จะกลับไปอ่านอีกไหม ตอบทันทีเลยว่า
เป็นรวมเรื่องสั้นที่อยากกลับไปอ่านอีกเมื่อมีโอกาส

   มันยังไม่อิ่มเหมือนกินข้าวกำลังอร่อยแล้วมาหมดเวลากินซะแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากกินสำรับนี้อีก ดูเหมือนจะมีทั้งน้ำและเนื้อ มีรสชาติแบบลาวอีสานที่แปลกไป แปลกในที่นี้ มันเป็นแบบ ไม่ใช่รสจัดจ้านของปลาแดกขี้ร้า พริก หอม ข้าวคั่ว...มากนัก แต่ก็เป็นรสชาติซึมลึก เป็นรสชาติของปัจจุบันที่มีอดีตเคลือบอยู่ หรือแทรกอยู่  ถ้าเปรียบกับขนมไข่ขี้เกี้ยม เม็ดหมากนุ่นข้างในคือแก่นความคิด เนื้อหา เหตุการณ์ที่สังคมปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ คนไม่เท่าเทียมกันหรอก คนที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น บางกลุ่ม บางคน ก็ยังดำรงสถานะการเอารัดเอาเปรียบใครเขาอยู่  คนทั่วไป ชาวบ้าน ก็ยังถูกเอาเปรียบ แม้พร้อมจะต่อสู้ แต่ก็ดูเหมือนว่าองคาพยพของสังคมจะตัดสินแล้วว่า ชัยชนะ จะอยู่เพียงในจิตใจของนักสู้  ส่วนชัยชนะในแง่การปรับโครงสร้างสังคมที่เอื้อต่อทุกคนนั้น แพ้ตั้งแต่คิด (หรือเปล่า)  ส่วนสำนวนภาษา  เห็นได้ว่านักเขียนไม่ได้ตั้งใจให้มีคำลาว แต่มันโผล่มาแบบเป็นธรรมชาติ มันดู Smooth ไม่แข็ง ดูกลมกลืน ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นให้คนที่ไม่ใช่คนลาวอีสาน ไม่อยากอ่าน ตรงข้าม ภาษาง่ายๆ ถ้อยคำธรรมดาที่ไม่ประดิดประดอย จะเป็นเสน่ห์ด้วยซ้ำ

   ในแง่ของการสร้างสรรค์ นักเขียน ใช้กลวิธีการเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่ จะเป็นมุมมองของสรรพนามบุรุษที่ 1  ซึ่งอาจใกล้เคียงกับตัวนักเขียนเอง คือ ผม ผมเป็นลูกไทบ้าน แต่ผมก็มีน้ำเสียงของ Bird Eye View  มองจากคนนอกเข้าไปในเรื่องด้วย อันนี้ทำได้ดี แต่ที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ กลวิธี  magical  คือความเหนือจริงที่เป็นไปได้ เป็นความจริงตามสภาวะ เรื่องได้ปูทางไว้ ไม่ขอลงรายละเอียด ใครสนใจก็ลองเปิดอ่านดูว่าจุดนี้เป็นจุดแข็งของนักเขียนฆาตกรและเรื่องสั้นอื่นๆ หรือไม่  ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือนักเขียนใช้วิธีการเปิด-ปิดเรื่องที่สอดรับกัน คล้ายๆ กับหนัง Hollywood หรือหนังทั่วไปที่ต้องการสร้างอารมณ์ร่วม ต้องการให้ผู้อ่านคิดเชื่อมโยงในฉาก ในประเด็นที่ผู้แต่งวางไว้ อีกนัยหนึ่งคือเป็นการป้องกันตัวของนักเขียนเองไม่ให้ออก นอกเรื่อง ไม่ให้เตลิด อย่าง ในเรื่องข้าว ผมสังเกตว่า ผู้เขียน นักเขียนมีข้อมูลเยอะมาก เรื่องข้าวนี้  มีทั้งข้อมูลครอบครัว ข้อมูลชุมชน ซึ่งหลั่งไหลออกมา ผมว่าเรื่องนี้ถ้าเขียนเป็นนวนิยายขนาดสั้นขยายความ
ตัวละครแต่ละตัวออกไป ก็น่าสนใจทั้งนั้น น่าจะเป็นนวนิยายสั้นที่ชวนอ่านทีเดียว ก็ดูเหมือนว่าเรื่องสั้นมันจะทำให้ผู้แต่งต้องบีบและวางข้อมูลบางส่วนไว้ เพื่อดึงตัวเองกลับเข้ามาสู่โหมดของเรื่องสั้นไม่งั้นมันจะเตลิดไป  (ดูว่าคนเขียนมันส์) เพราะดูท่าบางเรื่องมันอาจขยายเป็นนวนิยายสั้น ก็เป็นได้

   ไล่ไปทีละเรื่อง เรื่องข้าพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องสั้นที่อ่านง่ายที่สุดในเล่มนี้ เพราะเหมือนกับเป็นอัตชีวประวัติ ส่วนหนึ่งของตัวนักเขียน เป็นสภาวะข้างใน ที่ถ่ายทอดออกมาได้งดงาม น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากเขียนหนังสือ โดยเฉพาะแฟนๆ ของนักเขียน ที่เป็นรุ่นน้อง หรือรุ่นใหม่ที่อยากจะดำรงชีวิตด้วยการเป็นนักเขียน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวอย่างในวิธีคิดวิธีเขียน และอารมณ์ความเป็นนักเขียนที่ให้ความสุข หรือให้โอกาสปัจเจกชนในการพัฒนาตัวเอง ในเวทีความคิดอ่านที่ตัวเองชื่นชอบหรือใฝ่ฝัน  คม ครับ คม

   เรื่องความตายสีขาว และเรื่องคนตาย เป็น 2 เรื่องที่นักเขียน ตั้งใจนำเสนอโลกทัศน์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่นักเขียนศรัทธา และปรารถนาจะใช้วรรณกรรมเป็นสื่อในการบูชาความเชื่อนั้นว่าเฉพาะความตายสีขาวอาจจะจัดเป็นเรื่องสั้นในกลุ่มวรรณกรรมเยาวชนได้ แต่ความลึกในข้อมูล ในบรรยากาศตัวละคร และจุดมุ่งหมายของชีวิต เป็นสิ่งที่ท้าทายคนอ่าน ลองอ่านดูครับ ใครชอบพญานาค ใครชอบแม่น้ำโขงไม่ควรพลาดพินิจ พิจารณาสาร ตลอดจนสัมพันธบทระหว่างพระพุทธศาสนา ธรรมชาติแม่น้ำโขง ปลา พญานาค น่าสนใจครับ

   กล่าวเฉพาะเรื่องคนตาย แม้ผู้แต่งนักเขียนจะต้องการบอกเล่าเหตุการณ์ การทำร้ายผู้ชุมนุมทางการเมืองในวัด (เหตุการณ์จริงปีไหนนะ---)  ซึ่งเป็นความสะเทือนใจของสังคม โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนชาวลาวอีสานโดยตรง ที่รู้สึกว่า หมู่เฮาเจ้าข้าจะเป็นเครื่องสังเวยของสังคมประชาธิปไตยไทยมาบ่รู้กี่รอบกี่คำรบ...  แต่เนื้อหาหลัก กลับเป็นความศรัทธา ทางพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ อันถูกภาครัฐ เชื่อมโยง และ ลงมือ ทำลายศรัทธา ทำร้ายคนศรัทธาเสียฉิบ  ก็แค่พระแค่โยมจะข้ามภูพานไปไหว้พระธาตุพนม ก็ถูกฆ่าทิ้งเสียแล้ว  ข่าวกรองคืออะไร ใครเป็นคนสั่ง เพื่ออะไร การมีพระพุทธศาสนา มิใช่หรือที่ให้ คนชั้นนำนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กด ข่ม และครอบ... แล้วจะมาทำร้ายคนที่นับถือพุทธได้อย่างไร แสดงว่าศาสนาพุทธในแผ่นดินนี้ในนามผู้มีอำนาจ
แล้ว มันก็แค่เครื่องมืออย่างว่าเท่านั้นหรือ? มิใช่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้นำใช่ไหม? 
   นี่คือคำถาม เนื้อหาของเรื่องนี้ กล่าวถึงพระหนุ่มผู้จำรับภาระในการสืบทอดศรัทธาพระพุทธศาสนา ดำเนินเรื่องผ่านการแสวงหา การธุดงค์ โดยมีพระธาตุพนมเป็นจุดหมาย น่าสนใจครับ น่าสนใจในวิธีคิดแบบชาวบ้าน น่าสนใจในความบริสุทธิ์ของความเชื่อ น่าสนใจในความตั้งใจของนักเขียนที่จะถ่ายทอดบรรยากาศทางการเมือง ผลกระทบทางการเมือง ผ่านการปฏิบัติตามความเชื่ออันบริสุทธิ์ที่มันมีความลักลั่น ระหว่างประชาชนคนชาวบ้านกับรัฐ  ความเชื่ออันบริสุทธิ์ที่มีต่อศาสนายังถูกโยงไปเป็นการเมือง และฆ่าทิ้งผู้เชื่อมั่นเช่นนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยจริงๆ ที่เห็นตรงหน้าของผู้นำ จะถูกทำลาย ทำร้าย ฆ่าทิ้ง เพราะเป็นตัวขวางกั้นอำนาจ ผลประโยชน์ เป็นก้างขวางคอ เป็นสิ่งที่ผู้นำไม่ต้องการ ความเชื่อทางศาสนาที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นโดยเป็นข่าวเช้าเย็นว่าเชิดชูจิตใจ ชุบชูความเป็นผู้บริสุทธิ์ ให้ชาวบ้านใช้เรียนรู้ผูกฝั้นเป็นสายใย ให้คนในชุมชน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่สิ่งที่บ้านเมืองต้องการดอก  ฉะนั้นความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นความงดงาม เป็นเป้าหมาย ที่จะทำให้บ้านเมืองสังคมดำรงอยู่ ดำเนินไปเพื่อประชาชนโดยแท้จริง จึงดูเหมือนจะเป็นความเพ้อฝันตามความหมายของเรื่องสั้นเรื่องคนตาย เพราะคนที่ตายเพราะอุดมการณ์ทางศาสนา ที่ไม่ก่ายเกี่ยวกับการเมืองเลย ก็ยังต้องตายไปอย่างไร้ความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งคนที่ตายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่ว่า ก็ไม่มีที่อยู่ที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์สังคมแต่อย่างใด นักเขียนเชื่อเช่นนั้นหรือเปล่า ไม่แน่ใจ แต่คนอ่านเชื่อว่า เรื่องสั้นคนตายให้คนตายบอกกับเราว่าอย่างนั้น

   เรื่องสั้นเรื่องศพ (ประวัติศาสตร์หมู่บ้านเรื่องที่ 1) เป็นเรื่องชวนคิด ชวนสลดสังเวช ชวนสะอิดสะเอียนว่าเป็นเรื่องของการตายของหญิงสาวสวยของหมู่บ้าน แต่แม้หน้าประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเองในกำแพงโบสถ์ กำแพงวัด ก็ ไร้ซึ่งกระดูก ไร้ซึ่งการจารึกชื่อ การจารึกประวัติศาสตร์ชีวิตของคนคนหนึ่งที่สมควรจะมีอยู่  แต่กลับทำให้หายไป น่าแปลกไหมในสังคมประชาธิปไตยในสังคมที่ได้ชื่อว่า มีธรรมะ
มีความยุติธรรม ที่จริง? เรื่องนี้น่าจะชื่อว่า ผีอีลุน การตายของอีนางลุน สาวสวยของหมู่บ้าน กับการสืบหาผู้กระทำ ไม่พบ และการหายไปของข้อมูลในกำแพงวัด เกี่ยวข้องโดยตรงกับการมาของคนของรัฐหรือเปล่า ใครเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน ไม่ใช่คนในหมู่บ้านเองหรือ หรือคนในหมู่บ้านไม่มีสิทธิ์ หรือคนที่เรียกว่าเจ้านาย มีสิทธิขาด หมู่บ้านควรมีประวัติศาสตร์ส่วนไหน ส่วนไหนเขียนไม่ได้ แม้แต่อีนางลุน ยังไม่มีแม้ชื่อข้อมูลในวัดบ้านเกิดอันเป็นที่ไว้กระดูกของคนทั้งหมดในหมู่บ้านที่ตายไป ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า  ทั้ง เรื่องศพ เรื่องคนตายที่กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องชาวบ้านที่มีใครเจตนาให้สังคมลืมเลือน ไม่ต้องพูดถึง ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถ้าชาวบ้านคนหนึ่งตายเป็นเรื่องเล็กๆ กะจิ๋วหลิว ประชาชนคนอื่นตายเหมือนผักเหมือนปลา เหมือนเม็ดดินเม็ดทราย ไม่มีผลกระทบ ไม่มีส่วนในการจะเปลี่ยนแปลงให้สังคมงดงาม ดีงาม ไม่เป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้นำ ผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางสังคม และนำไปคิดพิจารณาให้ลึกซึ้ง ซึ่งนี่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา
อีกนั่นแหละ ใช่ไหมครับท่าน ไม่ว่าสังคมไหน อเมริกา ยุโรป รัสเซีย... ตราบใดที่ผู้นำยังเป็นผู้นำที่เป็นคนชั้นกลาง ชั้นสูง หรือแม้แต่ลูกชาวบ้านเองก็เถอะ ที่เมื่อมีโอกาสวาสนาพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้นำ ก็ไม่อาจจะรับประกันได้ว่า เมื่อเขาขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของความเป็นผู้นำนั้นแล้ว เขาจะยอมให้ประวัติศาสตร์หมู่บ้านชุมชน ถูกเขียนตามความเป็นจริงได้หรือไม่ อาจจะได้ ตราบใดที่มันไม่ไปขัดขวางอำนาจของท่านผู้นำ ตราบที่มันไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ทางการเมือง ทางการเงิน ทางพวกพ้อง ของผู้นำและพรรคพวก ธรรมดา ครับ ธรรมดาที่สุดเลย

   เรื่องต่อไป เหตุแห่งการตายของยายและตา เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นภาคต่อของเรื่องอีนางลุน เรื่องนั้นเธอตายแบบจับมือใครดมไม่ได้ แต่ผลกระทบก็คือ เมื่อมีมือที่สามหรือไม่ มีมือของรัฐเข้าไปสู่หมู่บ้านชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนก็เลยถูกใส่สีตีไข่ หรือถูกทำให้ลืม ในสิ่งที่หมู่บ้านชุมชนควรจะจำ ส่วนเรื่อง ในการตายของยายและตา เป็นเรื่องผลกระทบโดยตรงที่มีสาเหตุ รู้ว่าใครทำ หรือว่าการชลประทานของรัฐ ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ความสวยงาม ไม่ใช่การพัฒนา แต่เป็นฆาตกร ฆาตกรวิถีชีวิตชาวนา ฆาตกรที่ฆ่า สุนทรียภาพแห่งชุมชน สุนทรียภาพในครอบครัว สันติภาพในการทำเวียกทำงาน วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ผู้เขียนนำเสนอในเชิงสัจนิยมมหัศจรรย์ งานเขียนประเภท ลี้ลับ อันยอมรับได้ ก๊าซมีเทนในทุ่งนาทำให้ปลาให้คน ท้องป่องพองและแตกตาย และมีสิ่งชั่วร้ายไหลออกมากับเลือดกับหนอง รูปภาพและเหมือนโคลนเหมือนตมเหมือนสีเหมือนเชื้อโรค ที่มากับการชลประทานที่ขาดการวางแผนโดยละเอียดรอบคอบ องค์การใดๆ หรือแม้จะกะหวัดไปถึงเรื่องของ ฆาตกร (เรื่องเอกเรื่องสุดท้ายของเล่ม) ที่นำเสนอผลกระทบของการสร้างเขื่อน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เงินทอนมากมายแค่ไหน โครงการนำความร่ำรวยให้ปวงงผู้เกี่ยวข้อง...อย่างไร  ส่วนชาวบ้านก็เป็นเครื่องสังเวยอย่างที่ว่ามาแล้ว อ่านเรื่องนี้แล้ว หดหู่ครับ ผู้แต่งเลือกข้อมูลมาใช้ได้ดี กลวิธีก็ให้ชวนติดตาม ตัวเอกยายกับตา ตายในลักษณะเดียวกัน ครอบครัวล่มสลาย คือถ้าลงว่า เสาหลักหรือบรรพบุรุษของครอบครัว
ตายห่--แล้ว ลูกๆ หลานๆ จะอยู่อย่างไรกัน?

   เรื่องต่อมาคือเรื่อง ข้าว น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับครอบครัวผู้แต่งเองไหม เพราะมีข้อมูลเชิงลึก อนุมานได้ว่าคงไม่ใช่การแต่งขึ้นแน่ๆ ต้องมีต้นเค้าจริงสินา... น่าจะเป็นข้อมูลชั้นต้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะเรื่องนี้ถูกทำให้เชื่อว่า เป็นเรื่องจริง ด้วยการใช้ผมเป็นผู้เล่าเรื่อง ผมเป็นตัวละครตัวหนึ่งในครอบครัวนี้ ครอบครัวที่มีข้าวเป็นคำตอบของทุกชีวิต ราคาข้าวดี ความฝันของพี่ชายคนเล็กก็จะเป็นจริงหรือแม้ราคาข้าวจะดีขึ้นมา เงินก็ยังไม่พอที่จะจับจ่ายดูแลให้คนในครอบครัวอิ่มหนำสำราญ แต่ทุกคนก็ต้องปากกัดตีนถีบนี้ลงไปกรุงเทพฯเหมือนเดิม ราคาข้าวแค่ตันละ 4,000  คงไม่พอ ตันละ 8,000 หรือหมื่นห้าก็ยังไม่พอหรอกครับ คนไม่เป็นชาวนาไม่รู้หรอก เรื่องนี้เป็นความแค้นอุกอั่งถั่งเทในฐานะลูกชาวนา สถานะผมผู้เล่าเรื่องที่ต้องไปบวชเรียน เพราะพ่อแม่ไม่มีไม่มีเงินให้เรียนต่อ ครอบครัวพี่ชายก็ต้องแตกแยก ทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ก็หนีไปทำงานกรุงเทพ ปล่อยให้ลูกหลานอยู่กินตามประสาวิถีชีวิตที่ทุกคนจะต้องยอมลดทิฐิตัวเองอย่างพี่สะใภ้ที่ต้องทำกับข้าวสู่คนในครอบครัวกินด้วยความเหนื่อยล้า ก็ใช่ว่าทุกคนมันถึงจุดหนึ่ง ถ้ามันไปไม่ได้จริง ถึงจุดหนึ่งที่ความอดทนหมดลง มันก็ต้องหาวิธีใหม่ แสวงหาหนทางใหม่ ที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอดอยู่ได้ ถ้าคุณเป็นผู้นำ เป็นรัฐบาล เป็นนายก เป็นอะไรก็ตาม ถ้าคุณจะมาบอกว่าเลิกทำนาเถอะ ไปทำอย่างอื่น คุณมีอะไรรองรับเขาไหม พื้นที่ตรงนี้จะจัดโซนนิ่ง ไม่ต้องทำนาน่ะ คุณบ้าหรือเปล่า คุณต้องคิดอย่างอื่นนด้วย  ความสัมพันธ์แห่งวิถีชีวิต ความรื่นรมย์ในชีวิตของครอบครัวของพี่ของน้องของหลานของน้าอา มันจะต้องมี ทุกคนจะต้องมีส่วนที่จะถ่ายทอด ที่จะสืบทอด หรือที่จะปรับแปลงเปลี่ยนให้มันอยู่ได้ แต่จะปัจจัยที่ผู้นำซึ่งมีเงินมีทองมีหน้าวาสนาจะทำให้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ มันต้องเข้ามาดูแลเรื่องราคา ไม่ถูกรัดเอาเปรียบจากพ่อค้า แล้วพวกกระฎุมพี พวกเจ้าของโรงสีทั้งหลายเป็นเถ้าแก่เป็นเศรษฐี อันนี้ทำให้นึกถึงตัวเองตอนที่ไปขายข้าวให้กับโรงสี เราตัวเล็กมาก-ชาวนา แต่เจ้าของโรงสีสิ เขาว่าเป็นจักรพรรดิชี้เป็นชี้ตาย จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ เขาสามารถไล่เรากลับบ้านได้ ไม่รับซื้อก็ได้

    เอ้า---มาถึงเรื่องสุดท้ายแล้ว คือเรื่อง ฆาตกร ในทัศนะของผู้อ่านอย่างผม กลวิธีการแต่งเรื่องฆาตกรเป็นบทสรุปในแนวทางการเขียนเรื่องสั้นของวิทยากร โสวัตร ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องสั้นที่ได้รางวัลแล้วจะเป็นหมุดหมายอะไรมาก่อน แต่ว่าเมื่อได้อ่านการวางเรื่องมาทั้งหมดทุกเรื่องในเล่มนี้ เป็นที่สังเกตว่า กลวิธีต่างๆ ที่ วิทยากรเขียนและแสดงไว้ในทุกๆเรื่อง ถูกนำมาใช้ ในการรังสรรค์เรื่องฆาตกรนี้ ทุกวิธีการ ทั้งแนวเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย วิธีการสร้างกระแสสำนึก
มุมมองของผู้เล่าที่เป็นตัวละครในเรื่อง มุมมองแบบ Bird Eye View  ลำดับเรื่องแบบสลับเหตุการณ์ไปมาที่ผู้แต่งถนัด ภาษาง่ายๆ แบบบ้านๆธรรมดา ไม่ประดิดประดอย มุ่งไปที่แก่นเรื่อง พุ่งไปที่สาระของเรื่อง มากกว่าที่จะแวะชมดอกไม้ริมทาง อันนี้เป็นเสน่ห์เป็นความตรงไปตรงมาของนักเขียนคนนี้ แต่เมื่ออ่านดูดีๆ นะ การแต่งประโยคก็ดี การเข้าประโยค การลำดับความนั้น ในความง่ายมันกลับเป็นความงามที่เราสัมผัสได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม เหมือนเรานั่งคุยกับเจ้าตัวนั้นแหละ นะครับ มันดูเนียนเป็นธรรมชาติ มันดูหรือใช้คำว่า ลื่นไหล
จะสรุปตรงนี้ว่า มันเป็นรวมเรื่องสั้นที่ลื่นไหลได้น้ำได้เนื้อ และซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ ไม่ใช่คำชมจนเกินเลยนะ

   เอาล่ะ มองภาพรวมทั้งเล่มของเล่มหนังสือ การจัดหน้า การจัดเล่มหนังสือนั้น ผมมองว่าฆาตกรและเรื่องสั้นอื่นๆ เล่มนี้ของวิทยากร โสวัตร ผมชอบภาพประดับง่ายๆ ตรงประเด็น ภาพปลาก็ดี ภาพเหมือนภาพ เขียนผาแต้มก็ดี ครับ มันมีไม่เยอะแต่ว่ามันดูเรียบง่าย งามดี ผมชอบการจัดหน้าที่ไม่แออัดเกินไปนะ 25-26 บรรทัดต่อหน้า เราใช้แบตัวอักษรก็อ่านง่ายนะครับ อ่านง่ายดี น่ารักนะครับ ส่วนหนึ่งที่ผมชอบคือการแทรกคำวิจารณ์เล็กกๆ เป็นการนำเรื่องก่อนที่จะอ่านตัวเรื่องนะครับ
รวมทั้งการมีบทวิจารณ์ด้านหลังนะครับ ก็ทำให้เล่มสมบูรณ์นะ ตลอดจนการลงสุนทรพจน์งานรับรางวัลของผู้เขียนไว้ด้วยก็ดี ถือว่าเป็นรวมเรื่องสั้นที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง สมบูรณ์ในแง่ของการรวมเล่ม ในแง่ของการจัดหน้า ในการออกแบบหนังสือ รูปหน้าปกของอาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ ที่ดูเหมือนเม็ดข้าวอะไรนั่น ก็รู้สึกว่า จะเข้ากับเรื่องได้ดี เข้ากับเนื้อหาได้ดี สีที่ออกโทนน้ำตาล ดีครับ ฆาตกรเป็นสีของความเศร้าหม่น ดูกลมกลืนกันดีนะครับ (แต่การที่ปกแข็งมากไป เวลาเรากางหนังสือออกอ่าน มันดึงหน้ากระดาษาตามออกมาด้วยหนังสืออาจจะหลุดออกเป็นแผ่นๆ นะครับถ้ามีต้นทุนมากกว่านี้ เย็บกี่ได้ก็จะทำให้หนังสือเล่มนี้แข็งแรงขึ้นอีก ก็ไม่เป็นไรครับ ไม่เป็นไร เป็นหน้าที่ของคนอ่านที่ต้องซ่อมหนังสือตัวเองอยู่แล้ว

   พูดถึงความประทับใจนะครับ อาจจะสรุปลงตรงนี้นะครับ ในเรื่องสั้นเรื่องฆาตกร สรุปตรงๆ ที่ว่าเป็นพื้นที่เรื่องสั้นที่ต้องจิตต้องใจ ก็คือต้องกับจริตของผม-คนอ่าน ในฐานะคนลาวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนากับความเชื่อต่อการเมืองประชาธิปไตยน่ะครับ ต้องใช้คำว่าต้องจิตตรึงใจ

  ต่อไปนะครับ เรื่องกลวิธี กลวิธีที่ใช้ดูเหมือนจะไปทางการเขียน 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว ของพ่อใหญ่มาเกซ หรือไม่ หรืออาจเป็นนักเขียนอาร์เจนตินาคนหนึ่งที่เขียนงานเรื่องสั้นสกุลชวนพิศวง อะไรประมาณนี้นะ (ชื่อเล่ม จบเกม โดย สนพ.ผีเสื้อ) แม้แต่การเปิด-ปิดเรื่องที่ค่อนข้างวางแผนให้สอดรับกัน เป็นความตั้งใจ จบแค่นี้แหละ ประมาณนี้นะ อันก็ทำให้ชวนฉงน ชวนตีความ ไอ้ชวนตีความนี่แหละที่อยากให้กลับไปอ่านอีกหลายๆ รอบ ถ้ามีเวลา ก็คือหลายครั้งที่อ่าน อ่านไม่เบื่อ อ่านแล้วตีความได้หลากหลาย โดยเฉพาะถ้าใช้ทฤษฎีฝรั่งเศส-ทฤษฎีสัมพันธบท ของโรล็อง บาร์ธ มาจับคู่แล้วก็ตีความ หาสัมพันธบทระหว่างคู่สัญญะสำคัญ ระหว่างคู่คนตายกับผู้ใหญ่บ้าน ผีอีนังลุนกับผู้ใหญ่บ้าน  พระบวชใหม่กับสังกะรี  พระบวชใหม่กับคนที่มาฆ่า หรือแม้แต่ เฒ่าจ้ำกับเจ้านาย ก็จะเห็นภาพสังคมประชาธิปไตยแบบไทย  สังคมแบบชาวบ้านที่ดำรงอยู่  มันจะไปกันได้ยังไง ไปกันได้ยังไง คนเล็กคนน้อยจะอยู่ยังไง จะออกมา...ยังไง จะทำยังไง ให้สังคมน่าอยู่ได้แท้จริง

   ในการนิยามรวมเรื่องสั้นชุดนี้นะครับ เป็นรวมเรื่องสั้นที่ไม่เสแสร้ง เป็นรวมเรื่องสั้น ที่ไม่ประดิดประดอย ไม่ประดักประเดิด แม้ว่าสารหรือแก่นเรื่อง มันไม่ง่ายที่จะกรอง คือ ผู้อ่านต้องสังเคราะห์เอาเอง มันเป็นบันเทิงคดีจริงๆ  ไม่ใช่วรรณกรรมคำสอน หรือไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อลัทธิเพื่อประชาธิปไตย โดยตัวของมัน แต่มันเป็นเรื่องเล่า ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น  อ่านแล้วตีความเอาเอง ฆาตกรฯ นี้นั้นผมมองว่า เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านปากขอลูกหลานไทบ้านที่มีฝีมือเชิงการประพันธ์

   มาดูที่ข้อที่ควรพิจารณา ข้อที่อยากจะคุยกับผู้แต่ง บางฉากบางตอนในบางเรื่อง มันเกินมาหรือเปล่า (ข้อมูลเฟ้อนิดหน่อยไหม) ลองพิจารณาดูนะครับ ถ้ามันเกินมา แต่อย่างว่า  อารมณ์มันมาอยากใส่ไว้เนี่ยแหละ ผมว่าบางเรื่อง เช่น เรื่อง ข้าว น่าจะไปทำเป็นนวนิยายสั้นนะ จะได้รสชาติจะได้ความกว้าง ความลึกซึ้ง มากขึ้นไปอีกนะครับ

  มาดูที่เรื่องเล็กๆ ที่ควรปรับแก้ หากมีการพิมพ์ครั้งต่อไป แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า หนังสือเล่มนี้ มีการพิมพ์ ผิดตกน้อยมาก นับเป็นข้อที่ควรปรบมือให้ แต่ก็มีนะครับ
  -เรื่องคนตาย ปักกลด เป็น กลด ไม่ใช่ กรด นะครับ 
   -หน้า 45  คั่งแค้น เขียนแบบนี้นะครับ   อันนี้ว่าตามราชบัณฑิตไทย – ถ้าเป็นเจตนาของนักเขียนจะสะกดตามที่พิมพ์ ก็ไม่ว่ากันครับ
   -หน้า 48 กับ 159  ข้อมูลของอาจารย์ดอกเตอร์ธิกานต์ ศรีนาราครับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตกงองูนะครับ (เห็นพิมพ์เป็น เชียใหม่)
   -หน้า 67  ร่ำลือ เขียนอย่างนี้ครับ ไม่ใช่ ล่ำลือ
   -หน้า 109  คำว่า ปราณี ที่แปลว่าเอ็นดู เป็นนอหนูสระอีนะครับ (ปรานี-รักเอ็นดู,  ปราณี-มีชีวิตอยู่ มีลมหายใจ)

เกือบลืม...ที่ประทับใจอีกอย่าง และสำคัญไม่แพ้ตัวบททั้งหลายในเล่ม ก็คือ  เสมือนคำนำ ของลูกสาวนักเขียน เธอเขียนจากใจ มันคมคายและวิเศษมาก ใครที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ของลูกวัยประถม แล้วลูกมองเราแบบนั้น... เราคงรู้สึกได้ว่า ชีวิตนี้ช่างน่ารื่นรมย์นัก...

ชื่นชมและเป็นแฮงใจให้เด๊อครับ

ธีรยุทธ บุษบงค์

อุบลฯ/21/01/2562




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที่สุดของรัก

คลิก ฟังเพลงกันครับ ที่สุดของรัก  คือเห็นความงาม เป็นความจริงล้ำค่า ที่สุดของเข้าใจ คือแสงเช้าสาดต้องยอดยางนาต้นใหม่ เป็นความปรารถนาผ่องพริ้...